นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประชุม กนง.ครั้งที่ 6/2567 วันที่ 18 ธันวาคม 2567 โดยเผย ที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ชี้ปัจจัยเพราะเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้าโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น

แนวโน้ม ศก.ไทยขยายตัว 2.7 และ 2.9% ในปี 67 และ 68
สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับโดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องจักร ที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามวัฏจักรสินค้าเทคโนโลยี ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่ SMEs และภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง
‘กลุ่มยานยนต์’ มีพัฒนาการแย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง มองไปข้างหน้า แนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามพัฒนาการของปัจจัยดังกล่าวซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าและการลงทุนของไทยในระยะต่อไป
‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ ในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.4 และ 1.1 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และ 1.0 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
‘สินเชื่อ’ ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สินเชื่อของภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้และรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘สินเชื่อของธุรกิจ SMEs’ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น หดตัวตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง
‘อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ.’ ปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน ตามการปรับคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกที่มีแนวโน้มผันผวนจากแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบต่อตลาดการเงินไทย
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวของสินเชื่อและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ