ธปท.เร่งแก้หนี้ครัวเรือน ออก 3 แนวทางช่วยลูกหนี้

18 มกราคม 2567 - 10:29

bot-media-briefing-talk-debt-sustainable-solutions-SPACEBAR-Hero.jpg
  • คนมีหนี้ ต้องอ่าน! เป็นหนี้ ‘เรื้อรัง’ จ่ายดอกหลายปี จะหลุดหนี้อย่างไร

  • แบงก์ชาติ ชี้แนะ 3 แนวทาง ปรับโครงสร้าง-ปิดจบ-คุ้มครองสิทธิ

  • ชี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้ทุกกลุ่ม

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.9% ต่อของ GDP ไทย กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่หลายฝ่ายวิพากษ์ถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธ.ป.ท. ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับลูกหนี้ 

เรื่องนี้ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น.ส.สุวรรณ เจษฎาศักดิ์ เผยในงาน Media Briefing หัวข้อ ‘แบงก์ชาติชวนคุย #แก้หนี้ยั่งยืน’ ว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์และแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) โดยเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

สำหรับหลักเกณฑ์ Responsible Lending จะบังคับใช้กับ ‘เจ้าหนี้’ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ซื้อหนี้เสียออกไปจากผู้ให้บริการชั้นแรก และสุดท้าย คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลัง

bot-media-briefing-talk-debt-sustainable-solutions-SPACEBAR-Photo01.jpg

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ เรื่อง Responsible Lending ดังกล่าว แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ “มาตรการ 2 ต้อง 1 ไม่” ช่วยลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกระดับจากการขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังให้ปิดจบหนี้ได้ รวมถึงคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยให้การแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืนขึ้น สรุป 2 ต้อง 1 ไม่ ดังนี้

1. ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs : โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ที่ไม่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน) เมื่อเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ จะต้องได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลือ (product program) สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้ NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ให้บริการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เจ้าหนี้ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ในช่วงเกิดโควิด-19 นั้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ก่อนเป็น NPL ไปแล้ว และหากลูกหนี้กลายเป็น NPL ลูกหนี้จะได้รับสิทธิในการปรับโครงสร้างหนี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนที่เจ้าหนี้จะมีการขายหนี้ หรือฟ้องดำเนินคดี

• ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล : ลูกหนี้กลุ่มนี้ หากอายุไม่เกิน 60 ปี ที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน และเป็นหนี้กับเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการฯ สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี โดยหากปิดหนี้เร็วดอกเบี้ยจะถูกลง คือ หากปิดจบหนี้ใน 4 ปี ดอกเบี้ย 3% ปิดจบหนี้ใน 7 ปีดอกเบี้ย 4% และปิดจบหนี้ใน 10 ปี ดอกเบี้ย 5% และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้ เมื่อชำระครบตามสัญญา

• ทางด่วนแก้หนี้ : นอกจากนี้ ธปท. ยังมีช่องทางเสริมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้ สำหรับประชาชนขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่ให้คำปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs

2. ปิดจบหนี้ ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบาง

• ลูกหนี้จ่ายดอก > เงินต้น ปิดจบหนี้เร็วขึ้น : ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลและบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยจะได้รับการแจ้งเพื่อกระตุกพฤติกรรมและร่วมแก้ปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้โดยเร็ว

• ลูกหนี้ 5 ปี จ่ายดอก > เงินต้น ให้ผ่อนเป็นงวด ปิดจบใน 5 ปี : ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 ลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับนอนแบงก์ สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี

“ถ้าเข้ามาแล้ว สามารถแปลงบัญชีสินเชื่อที่เป็นวงเงินหมุนเวียน เป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดๆ คือ installment loan) และสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ไม่เกิน 15% ต่อปี แต่เมื่อลูกหนี้เข้ามาแล้วสินเชื่อหมุนเวียนเดิมจะต้องปิด แล้วโอนมาไว้ที่สินเชื่อ installment แต่ถ้าลูกหนี้มี 3-4 บัญชี แต่อยากคงสินเชื่อบางอันเอาไว้ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ก็ทยอยแก้ทีละบัญชีได้ โดยเกณฑ์นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567”

น.ส.สุวรรณี กล่าว

bot-media-briefing-talk-debt-sustainable-solutions-SPACEBAR-Photo02.jpg

3. คุ้มครองสิทธิ คิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมที่เป็นธรรม

กล่าวได้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ลูกหนี้จะได้รับการดูแลให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรมมากขึ้น ตลอดจนได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน โดย ...

- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ห้ามเจ้าหนี้ “คิดค่าปรับชำระหนี้/ไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด” (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท เพื่อลดข้อจำกัดในการชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ในการเสนอดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง เพื่อทำให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรกเท่านั้น และหลังจาก 3 ปีแล้ว จะต้องไม่มีค่าธรรมเนียม prepayment fee

- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ห้ามเจ้าหนี้ “คิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้” ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

- ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ห้ามเจ้าหนี้ “คิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยทบต้น)” สำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย รวมกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (overdraft)

- นอกจากนี้ เจ้าหนี้ต้องทำให้ลูกหนี้ได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการเพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้ เช่น การมีคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” และอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำสุด-สูงสุดในสื่อโฆษณา การแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (เริ่ม 1 กรกฎาคม 2567) การแจ้งข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการแก้หนี้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำคลิปส่งเสริมความรู้ทางการเงินเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน และรู้วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อต้องประสบภัยทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ธปท. จะตรวจสอบผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น ผลักดันและติดตามให้ผู้ให้บริการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด 19 หรือตรวจสอบเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายย่อยของผู้ให้บริการบางแห่งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพื่อลูกหนี้จะได้รับการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นธรรม ทั้งยังจะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์