แบงก์ชาติ เผยแล้ว เงินเฟ้อลด ดอกเบี้ยไม่ลด เพราะ?

15 มกราคม 2567 - 09:03

bot-policy-briefing-interest-inflation-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แบงก์ชาติ เผย นโยบายดอกเบี้ย เป็นเครื่องมือดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ-ระบบการเงินประเทศไทย

  • ต้นเหตุ เงินเฟ้อลด ดอกเบี้ยลดไม่ได้ เพราะ กนง.ใช้หลายปัจจัยเชื่อมโยง จึงไม่สามารถขึ้น-ลง เร็ว ตามกระแสเศรษฐกิจได้

ท่ามกลางข้อสงสัย เงินเฟ้อที่ลดลง แบงก์ชาติช่วยลดดอกเบี้ย ลดภาระให้ประชาชนได้หรือไม่? เวที “BOT Policy Briefing เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ซึ่งผู้บริหารแบงก์ชาติ 3 ราย ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและเลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน เผยรอบด้านเศรษฐกิจ-การเงินไทย ร่วมให้ข้อมูลสำคัญ ชี้ถึงนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติ และตอบคำถามสำคัญให้สังคม โดยเฉพาะข้อสงสัย “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง” ก่อนจะสอบถามเชิงร้องขอ ‘ปรับลดดอกเบี้ยลงได้ไหม?’

คำตอบจากแบงก์ชาติ ตอกย้ำเหตุผลกลไกดอกเบี้ยว่า ที่ผ่านมาถือว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ย ตามกระแสข่าวหรือตามการร้องขอได้ เนื่องจากการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้ง กนง.ให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน 2. ควบคุมเงินเฟ้อยั่งยืน และ 3. เสถียรภาพเศรษฐกิจ 

เน้นย้ำว่า มีหลายมิติที่ต้องให้น้ำหนัก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะเรื่องของนโยบายการเงิน มีระยะเวลาที่กระทบเศรษฐกิจมา ไม่สามารถที่จะปรับขึ้นๆ ลงๆ ตามภาวะที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ตระหนักดีว่า อัตราดอกเบี้ย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักให้ดี

ให้ภาพต่อว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ถือว่าอยู่ในจุดตั้งต้นที่ดี และดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจกำลังมีการขยายตัว เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ภาคการเงินมั่นคง ภาคต่างประเทศเข้มแข็ง

“นโยบายดอกเบี้ยต้องดูหลายปัจจัยรอบด้าน เพื่อดูให้ออกว่าอะไรเป็นแก่น อะไรเป็นกระแส ต้องมองไประยะปานกลาง เพราะใช้เวลาส่งผ่านช่วงหนึ่ง เหมือนส่งบอลให้เพื่อนว่าจะวิ่งไปทางไหน”

นายปิติ กล่าว

bot-policy-briefing-interest-inflation-SPACEBAR-Photo02.jpg

สำหรับข้อเรียกร้อง ที่ให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย นั้น นายปิติ อธิบายว่า การลดดอกเบี้ยมีต้นทุนและความเสี่ยง ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ธนาคารกลางทุกประเทศต้องดูหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน ไม่ได้ดูแค่ระยะสั้น เพื่อดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ส่วนเงินเฟ้อที่ติดลบมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน มาจากมาตรการดูแลค่าครองชีพของรัฐบาล อย่างมาตรการคุมราคาพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

ขณะที่ราคาสินค้าไม่ได้ลดลงในวงกว้าง เงินเฟ้อที่ติดลบไม่ได้สะท้อนกำลังซื้อที่แผ่วลง ขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในกรอบ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเงินเฟ้อติดลบแล้วแบงก์ชาติไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าเงินเฟ้อจะติดลบไปถึงอย่างน้อยเดือนกุมภาพันธ์ และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 1-2% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของแบงก์ชาติ

“ย้ำว่าธนาคารแห่งประเทศไทยรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ก็มีการพูดคุยกันตลอด และนำมาทบทวนเสมอว่าได้ดำเนินนโยบายถูกต้องแล้วหรือเปล่า ซึ่งก็ยืนยันว่าตอนนี้แบงก์ชาติดำเนินนโยบายไม่ผิดทางแน่นอน”

นายปิติ กล่าว

ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ยืนยันว่า  แบงก์ชาติมีความกังวลผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพะกลุ่มเปราะบาง ดังนั้น แบงก์ชาติพยายามดูแลผลกระทบไม่ให้เร็วและแรงเกินไป รวมถึงดูแลให้แบงก์พาณิชย์ระมัดระวังในการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย ให้ขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งอัตราการส่งผ่านดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 49% ลดลงจากในอดีตที่ 58% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าหลายๆ ประเทศ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 79-100%

สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนส่วนหนึ่งว่า ธนาคารให้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อย แต่เก็บดอกเบี้ยเงินกู้สูงจนหลายคนผ่อนไม่ไหวนั้น ประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องหารือกับธนาคารพาณิชย์ใกล้ชิดขึ้นต่อไป

bot-policy-briefing-interest-inflation-SPACEBAR-Photo01.jpg

อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ กนง. จะมีการประชุมนัดแรกของปี 2567 จับตาต่อไปว่า ทิศทางดอกเบี้ย ณ เวลานั้น จะยังสามารถลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้หรือไม่ หรือยังต้องคงดอกเบี้ยต่อไป โดยเวที “BOT Policy Briefing เปิดแนวคิดนโยบายแบงก์ชาติ” ย้ำเพียงว่า กนง. พร้อมปรับจุดยืนนโยบายให้เหมาะสม หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์