คงต้องจับตาเป็นพิเศษ สำหรับเรื่องใหม่ในประเทศไทย รับยุค ‘การเงินดิจิทัล’ กับ ‘ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา’ (Virtual Bank) ในประเทศไทย ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปี 2569 ... ความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ เมื่อ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายที่แบงก์ชาติเปิดให้บรรดาผู้ประกอบการสามารถ ‘ยื่นขอใบอนุญาต’ (ไลเซนส์) เพื่อจัดตั้งธุรกิจนี้ได้ เป็นวันสุดท้าย จากนี้ไป ก็ลุ้นผล ว่าจะมีใครบ้างที่ผ่านเกณฑ์ และได้ก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เดินหน้าให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ไม่มีสาขาเหมือนธนาคารดั้งเดิม
ว่ากันว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เผยให้เห็นกลุ่มผู้สนใจ ยื่นขอใบอนุญาต ว่า ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ประกอบด้วย

1. กลุ่มแรก นำโดย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ ซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
โดย ADVANC มีจำนวนผู้ใช้งานมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านรวม 49.3 ล้านคน
OR มีจำนวนสมาชิก Blue Card จำนวน 7.9 ล้านคน และ
KTB ให้บริการแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงินโดยมีจำนวนผู้ใช้รวม 59 ล้านคน
นักวิเคราะห์ ชี้ กลุ่มพันธมิตรนี้มีโอกาสที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา เนื่องจาก กัลฟ์ฯ มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไปแล้ว และยังให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิทัล ส่วน KTB เป็นธนาคารที่มีเครือข่ายลูกค้าทั่วประเทศ รวมถึงในต่างจังหวัด จึงทำให้มีฐานผู้ใช้ที่แข็งแกร่งจากหลายนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ผ่านมา
2. กลุ่มสอง นำโดย บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมมือกับ ‘คาเคาแบงก์’ (KaKaoBank) จากเกาหลีใต้ และ ‘วีแบงก์’ (WeBank) จากจีน ทั้ง 3 บริษัทตั้งใจจะยื่นสมัครเป็นกลุ่มพันธมิตรเดียวกัน
• คาเคาแบงก์ เป็นดิจิทัลแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 22.8 ล้านคน และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2.43 แสนล้านบาท
• วีแบงก์ มีจำนวนผู้ใช้งาน 365 ล้านคน และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 7.48 แสนล้านบาท
• SCB เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยที่มีการลงทุนในดิจิทัลแบงก์อย่างมาก และมีฐานผู้ใช้ในธนาคารบนโทรศัพท์มือถือจำนวน 16 ล้านคน
กลุ่มนี้จะใช้ประโยชน์ในดิจิทัลแบงก์จาก คาเคาแบงก์ และวีแบงก์ ที่มีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก เพื่อมาปรับใช้กับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
3. กลุ่มสาม นำโดย CP Group เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ประกาศความร่วมมือกับ ‘แอนท์ กรุ๊ป’ (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทคและเป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Ailbaba) จากจีน มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 1.3 พันล้านคน ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 2.81 ล้านล้านบาท
ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ จะส่งทรูมันนี่ เป็นบริษัทลูกของบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ เพื่อร่วมกันทำธุรกิจฯ โดย ทรูมันนี่ มีฐานผู้ใช้ 27 ล้านคนทั่วประเทศ มีการใช้จ่ายผ่านสาขาเซเว่นอีเลฟเว่นกว่า 14,500 สาขา และโลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 2,400 สาขา
มีการวิเคราะห์ด้วยว่า แอปพลิเคชัน อาลีเพย์ให้บริการมากกว่า 1 พันล้านคนในจีน อาลีเพย์ อนุมัติสินเชื่อและให้กู้ยืมแก่เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลโดยใช้ดาวเทียม จึงคาดว่า แอนท์ กรุ๊ป จะนำนวัตกรรมในดิจิทัลแบงก์มาปรับใช้กับธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ทำให้กลุ่มพันธมิตรนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะรับใบอนุญาตธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา
4. กลุ่มสี่ นำโดย ซี กรุ๊ป (Sea Group) ผู้ให้บริการทางการเงิน SeaMoney ในชื่อ ShopeePay ยื่นขอจัดตั้ง เวอร์ชวลแบงก์ รวมกลุ่ม ธนาคารกรุงเทพ, บีทีเอส (VGI), เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
โดย ซี กรุ๊ป มีจุดแข็งเคยทำเวอร์ชวลแบงก์มาแล้วในหลายประเทศ ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ขณะที่พันธมิตร อย่าง ไปรษณีย์ไทย ก็ถือเป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียว ที่ร่วมเป็นพันธมิตรชิงเวอร์ชวลแบงก์ มีฐานลูกค้าธุรกิจที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้าน แบงก์กรุงเทพ ก็มีจุดแข็งในเรื่องธรรมาภิบาล ขณะที่ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป (BTS) มีการเพิ่มทุน เพื่อที่จะทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาจำนวน 7.5 พันล้านบาท ซึ่ง VGI จะเข้าถือหุ้นไม่เกิน 25% และ VGI มีประสบการณ์ในการให้บริการบัตรแรบบิท ที่ให้เติมเงิน เพื่อเป็นบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึง สหพัฒน์ ที่มีจุดแข็งการเข้าถึงกลุ่มเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตาม ไม่เกินวันที่ 27 กันยายน นี้ เราก็จะได้รู้แล้วว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank จำนวน 3 ราย เป็นใครบ้าง (หลังเปิดรับสมัครมาตั้งแต่ 20 มี.ค. - 19 ก.ย. 2567 รวมเป็นระยะเวลาเปิดรับเป็นเวลา 6 เดือน) ซึ่งแต่ละรายที่ยื่นขอ ก็ล้วนมีจุดแข็งด้วยกันทั้งสิ้น