ครม. เห็นชอบ ร่างกฎหมายหลักทรัพย์ ตลาดทุน สินทรัพย์ดิจิทัล 4 ฉบับ

14 กุมภาพันธ์ 2566 - 11:00

Cabinet-approved-4-draft-laws-capital-markets-digital-assets-SPACEBAR-Thumbnail
  • ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ตามที่คลังเสนอ

  • ชี้ เพื่อรองรับธุรกรรมในตลาดทุนที่ใช้เทคโนโลยี กำกับดูแลชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย มติคณะรัฐมนตรี 14 กุมภาพันธ์ 2566 อนุมัติหลักการกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย  
  1. ร่าง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉ. ..) พ.ศ. ....  
  2. ร่าง พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉ. ..) พ.ศ. ....  
  3. ร่าง พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (ฉ. ..) พ.ศ. ....  
  4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 พ.ศ. ...  
พร้อมรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดทุน สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย 

โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์และสาระสำคัญ ดังนี้ 
1. ส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัล โดยเพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุน การออกและส่งมอบหลักทรัพย์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการออกเสนอขายหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่น ๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยทำให้การดำเนินการในภาคตลาดทุนสามารถดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบถ้วนทั้งระบบ และมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม 

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่และการเปิดเผยงบการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การกำกับดูแลบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนในตลาดทุนได้รับบริการที่มีคุณภาพ และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ก่อให้เกิดต้นทุนหรือภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินควร 

3. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อให้การจัดตั้งศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ง่ายขึ้น รองรับการซื้อขายหลักทรัพย์รวมถึงโทเคนดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายกับหลักทรัพย์ รวมถึงเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ฝากหลักทรัพย์ที่ฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการกำกับดูแลสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ 

4. เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลการระดมทุน สำนักงานสอบบัญชี และผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เช่น เพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียม หุ้นกู้ การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การกำกับดูแลสำนักงานสอบบัญชีกับผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน การให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการจดข้อจำกัดการโอนและกำหนดแนวทางการรายงานผลการเสนอขายหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น เพื่อลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าในปัจจุบัน 

5. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ โดยปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภท การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวน และเพิ่มบทบัญญัติในเรื่องโทษปรับเป็นพินัยเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้บุคคลที่จะให้ข้อมูลเบาะแสต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในความผิดบางประเภทได้รับความคุ้มครองในแนวทางเดียวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการสนับสนุนกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

6. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกัน โดยเพิ่มและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ คุณสมบัติ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับตลาดทุนให้สอดคล้องกัน รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเพื่อความชัดเจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม 

โดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ จะช่วยส่งเสริมการมุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัลในการดำเนินการของภาคตลาดทุนโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถดำเนินการได้ครบถ้วนทั้งระบบ ทำให้ผู้ลงทุนและกิจการเข้าถึงตลาดทุนได้สะดวก มีทางเลือกในการใช้บริการที่หลากหลายเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบกิจการตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ ตลาดรอง และองค์กรที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ช่วยลดข้อจำกัดในการระดมทุนในทางปฏิบัติ และทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีเครื่องมือในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

สำหรับผู้ลงทุนจะได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้รับความคุ้มครองในมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและการกำหนดมาตรการลงโทษ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดทุนโดยรวม ส่งผลให้ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยอยู่ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ขณะที่ ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 4 ฉบับดังกล่าวในประเด็นสำคัญ ได้แก่  
  1. เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดทุนและยังคงมีการกำกับดูแลที่เหมาะสม  
  2. เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ โดยแก้ไขเพิ่มเติมการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล  
  3. เพิ่มค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการ การประกอบวิชาชีพ หรือการให้บริการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  
  4. เพิ่มบทบัญญัติโทษปรับเป็นพินัยสำหรับความผิดทางพินัย ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  
  5. เพิ่มมาตรการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานเจ้าหน้าที่  
  6. เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนในความผิดบางประเภท 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์