รัฐบาลอนุมัติ G-Token สร้างโอกาสลงทุนดิจิทัลสำหรับ ปชช.

13 พ.ค. 2568 - 09:11

  • ครม.ไฟเขียว ออก ‘ไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน’ ระดมทุนใหม่ผ่าน G-Token

  • วงเงินเบื้องต้น 5,000 ล้าน ขายประชาชนเหมือนพันธบัตร

  • คาด สามารถออกได้ภายใน 2 เดือน

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token) หรือ G-Token ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนรูปแบบใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการลงทุนในตลาดดิจิทัลได้ง่ายขึ้น 

โดย G-Token คือ หน่วยดิจิทัลที่ออกโดยรัฐบาล โดยใช้เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) มาเป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ย้ำว่า G-Token จะมีความปลอดภัยและโปร่งใส เนื่องจากระบบและกระบวนการทั้งหมดจะสามารถตรวจสอบได้ และดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายที่มีความชัดเจน 

ทำไม G-Token ถึงน่าสนใจสำหรับประชาชน?

1. เปิดโอกาสลงทุนในรูปแบบใหม่
G-Token จะช่วยให้ประชาชนสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยจากรัฐบาล ซึ่งต่างจากการลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงสูง G-Token จะเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนที่ไม่ต้องพึ่งพาตลาดหุ้นหรือการลงทุนแบบดั้งเดิม

2. โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
การออก G-Token จะมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจนและสามารถติดตามได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนของตนจะได้รับการดูแลอย่างโปร่งใส

3. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
G-Token จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยการใช้เทคโนโลยีในการระดมทุนและกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลในประเทศ

4. เน้นความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้ลงทุน
รัฐบาลได้เน้นย้ำว่า G-Token จะถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน โดยจะมีกระบวนการที่ปลอดภัยและเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่สนใจในการลงทุน 

G-Token ถือเป็นก้าวสำคัญที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนในยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนผ่าน G-Token ในระยะต่อไปได้


cabinet-approves-government-token-fintech-investment-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง ชี้มตินี้ เป็นการเห็นชอบวิธีการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งกำหนดวงเงินเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท ถือเป็นการเพิ่มช่องทางการออมการลงทุนให้กับประชาชนใหม่ โดยการเพิ่มเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาล โดยผู้ถือหน่วยลงทุนนี้จะได้ลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนด้วยการฝากเงิน 

“การออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคนครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ โดยไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่ และไม่ได้เป็นประเภทคริปโตเคอเรนซี่ โดยประชาชนสามารถลงทุนในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยได้ เช่น ลงทุนได้ตั้งแต่หลัก 100-1,000 บาท เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถขยายฐานการลงทุนได้ และเป็นการวางรากฐานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วย” 

“รูปแบบการลงทุนนี้ เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง ในอนาคต หากมีเครื่องมือการลงทุน ก็สามารถเข้าไปลงทุนใน ระบบดิจิทัลได้ ได้ผลตอบแทนที่มั่นคงและสม่ำเสมอ ส่วนข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลก็รับมาพิจารณายืนยันว่า ไม่ได้นำไปใช้ชำระสินค้า โดยจะออกมาในสัดส่วนที่เหมาะสมครั้งแรก เพื่อให้เห็นว่าปลอดภัย” พิชัย กล่าว 

ด้าน พชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การออกไทยแลนด์ดิจิทัลโทเคน จะสามารถออกได้ภายใน 2 เดือนนี้ ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา ผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นเดียวกับการซื้อพันธบัตร และน่าจะมีต้นทุนต่ำกว่าออกออกพันธบัตรแน่นอน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์