ครม.ไฟเขียวแผน IP ไทย-สหรัฐฯ หวังพ้นบัญชีจับตา

27 พ.ค. 2568 - 10:15

  • ครม.เห็นชอบ ร่างแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ระหว่างกรมทัพย์สินทางปัญญากับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ

  • เดินหน้าแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

  • ยกระดับสู่มาตรฐานสากล หวังพ้นบัญชีจับตาพิเศษ

ครม.ไฟเขียวแผน IP ไทย-สหรัฐฯ หวังพ้นบัญชีจับตา

การประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. วันนี้ (27 พ.ค.68) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Thailand Intellectual Property Work Plan) ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกระดับระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้ได้มาตรฐานสากล

 

ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แผนงานดังกล่าวมีเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี “ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” (Priority Watch List: PWL) ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในบัญชีนี้โดยสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน จากปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ออนไลน์ ซอฟต์แวร์เถื่อน และสินค้าปลอม

 

แผนงานครอบคลุม 4 ด้านหลัก ได้แก่

1. ลิขสิทธิ์ - ยกระดับระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เร่งผลักดันการให้สัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดการกับปัญหาองค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์

2. เครื่องหมายการค้า - ปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนและเพิ่มบุคลากรผู้ตรวจสอบ

3. สิทธิบัตรและเภสัชภัณฑ์ - ปฏิรูประบบสิทธิบัตรให้โปร่งใสและมีคุณภาพ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

4. การบังคับใช้สิทธิ - เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินคดีผู้ละเมิดอย่างจริงจัง และเร่งจัดการปัญหาสินค้าปลอม

 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ โดย USTR จัดทำรายงานสถานการณ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประจำปี โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศที่ละเมิดรุนแรง (Priority Foreign Country), ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) และประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่ม PWL ต่อเนื่องมาหลายปี และมีความพยายามต่อเนื่องในการยกระดับระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

รัฐบาลไทย จึงยืนยันความมุ่งมั่นในการปฏิรูปกฎหมายและระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อคู่ค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์