ครม.รับทราบผลศึกษา แก้ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน

18 เมษายน 2567 - 10:24

cabinet-energy-price-structure-lpg-fuel-biofuels-petroleum-gas-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ครม. รับลูก กมธ.พลังงาน วุฒิสภา ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน 4 ด้าน

  • เสนอแยกราคาหน้าโรงกลั่น และราคาขายปลีกน้ำมัน-LPG คุมเข้ม ก๊าซ LPG เหมือนกับปั๊ม

  • เสนอ 8 ข้อ เน้นดูแลกลุ่มเปราะบาง ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน

รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี   รับทราบผลการศึกษา เรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ‘การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG’ ซึ่งมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อดังนี้

1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG สำหรับการคำนวณราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 

2. การใช้หลักเกณฑ์ เปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับปั๊มน้ำมัน เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ช่วยลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย 

3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโรงบรรจุ ในถังบรรจุก๊าซ LPG มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG

4. รัฐควรออกนโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ร้อยละ 1 (32,725 ตันต่อเดือน) ให้เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ขณะนี้ พน. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG

ขณะที่ส่วนที่สอง เป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ เรื่อง “ภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG” โดยมี 8 ข้อเสนอแนะ ดังนี้ 

1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ 

2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบางแทนการช่วยเหลือในภาพรวม

3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาเป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานผลิตในประเทศ ควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกอ้างอิงควรกำหนดให้ราคาผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า   

4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคาส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง

5. การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้มีประสิทธิภาพ และการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซงหรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน   

6. ทบทวนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด บนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบันให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ

7. การจัดหาพลังงานในอนาคต ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม 

8. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา วิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ทำตามข้อเสนอแนะแทบทุกข้อ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติเพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลวและกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี พ.ศ. 2569 

รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา และมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นอีกด้วย

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2567 กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง แจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ยและหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส กรณีผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล ต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบเช่นเดียวกัน เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นจริง สร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน”

นางรัดเกล้า กล่าว

ข่าวที่น่าสนใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์