ครม.เคาะตั้ง NaCGA ยกเครื่องใหญ่ระบบค้ำประกันเครดิตไทย

13 ส.ค. 2567 - 09:58

  • ครม.เห็นชอบตั้ง สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ‘นากก้า’ (NaCGA)

  • ยกเครื่องใหญ่ ระบบค้ำประกันเครดิตไทย

Cabinet-nacga-national-credit-guarantee-institute-SPACEBAR-Hero.jpg

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผย คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการจัดตั้ง ‘สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือนากก้า (NaCGA) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อให้กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

โดยชี้ ที่มาที่ไปของ ‘นากก้า’ เกิดจากความต้องการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบปัญหา การเข้าถึแหล่งเงินทุน และการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจมายาวนาน อาจตั้งแต่ช่วงการระบาดของเชื้อโควิด ส่งผลเกิดความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินที่ปรับสูงขึ้น

ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะวิกฤตได้อย่างทันการณ์ เพียงพอและครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อให้ระบบการเงินทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ ภาครัฐจึงพัฒนาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการคลังตามร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA 
 
สำหรับร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA มีสาระสำคัญ เช่น 

- NaCGA มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน 

- NaCGA ทำหน้าที่หลักในการค้ำประกันสินเชื่อและธุรกรรมต่างๆ ของสถาบันการเงินและ Non-Banks รวมถึงค้ำประกันหลักทรัพย์และการออกหลักทรัพย์

- NaCGA ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ 

- NaCGA จัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและรวดเร็ว 

วิธีและรูปแบบการค้ำประกันจะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดย NaCGA เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ำประกันทั้งหมด

สำหรับแหล่งเงินทุนของ NaCGA ประกอบด้วย
1. เงินสมทบจากรัฐบาล
2. เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ และ
3. ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ให้กระทรวงการคลังวางแผนการดำเนินการ โดยแสดงแหล่งเงินทุนที่จะใช้สำหรับการดำเนินการของ NaCGA ให้ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต และกรณีที่กระทรวงการคลังจะจัดทำและนำร่างกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น เห็นควรต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่นของรัฐและหลักความจำเป็นในการตรากฎหมาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนต่อไป กระทรวงการคลังจะร่างกฎหมายจัดตั้งร่วมกับ ธปท. ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์