จับตา 2 แคนดิเดต พงศธร-จตุพร คั่ว ปธ.บอร์ด ปตท.คนใหม่

19 ต.ค. 2566 - 12:11

  • ศึกครั้งนี้ไม่ง่าย เมื่อประธานเก่า ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ตั้งป้อมสู้ ร้อง กลต.ให้ช่วยเบรก

  • อ้าง ยังไม่ครบวาระ

candidates-phongsathorn-chatuporn-new-chairman-ptt-board-SPACEBAR-Hero.jpg

ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 ตุลาคม 2566 มีกระแสข่าวลืออย่างหนักว่าจะมีการนำเสนอวาระลับ (จร) เพื่อเสนอขอให้มีการลาออกของคณะกรรมการทั้งหมดแบบยกชุด และเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการบริษัท ปตท. คือตัวประธานกรรมการบริษัท ที่มี ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ นั่งอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว

ข่าวลือเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าว ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองต้องการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการและกรรมการ ปตท.ชุดใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลใหม่ ที่มีเป้าหมายลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า ในการประชุมคณะกรรมการบอร์ด วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) จะมีเสนอวาระการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ปตท. ทดแทนตำแหน่งเดิมที่จะเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หรือไม่

มีรายงานข่าวว่า ฝ่ายการเมืองมีตัวเลือก 2 คนที่จะมานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการแทน ดร.ทศพร คือ ‘พงศธร ทวีสิน’ ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการ และ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และ ‘จตุพร บุรุษพัฒน์’ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน ซึ่งทั้งสองรายชื่อต่างก็เป็นสายแข็งที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองค่อนข้างแข็งแรง

“มีความพยายามกดดันให้กรรมการ ปตท.ลาออกกันยกชุด โดยไม่ต้องรอให้ครบวาระ เพื่อเปิดทางให้มีการล้างไพ่ใหม่ เนื่องจากฝ่ายการเมืองต้องการดันคนของตัวเองขึ้นมาแทนประธานคนเดิม ที่ดูจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับในเรื่องนโยบายพลังงานของรัฐบาลใหม่ และมีความเห็นว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ควรจะเป็นมารยาทของบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ควรจะลาออก เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลคัดสรรคนของตัวเองเข้ามาเป็นบอร์ด ก่อนหน้านี้ มีการคุยอย่างไม่เป็นทางการ บอร์ดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ก็ให้ความร่วมมือ และยอมลาออกกันยกชุด แต่ดูเหมือนบอร์ดของ ปตท. โดยเฉพาะตัว ประธาน ทศพร จะไม่เห็นด้วย โดยยืนยันว่ายังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง”

ขณะเดียวกัน เมื่อวานนี้ พีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีนโยบายสั่งการให้กคณะกรรมการบริษัท ปตท.ลาออกแต่อย่างใด ทำให้ในการประชุมวันนี้ ยังไม่มีวาระเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ยกเว้นจะมีการเสนอเป็นวาระจรเข้ามาให้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ประธาน ‘ทศพร’ เลือกที่จะเดินหน้าชน โดยทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด โดยระบุว่า อาจจะกำลังจะมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของ บริษัทฯ ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด และอาจทำให้การกระทำต่างๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย 

ในหนังสือที่มีไปถึง ก.ล.ต. ระบุว่าตามข้อบังคับของ ปตท. ข้อ 34 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
1. พ้นตามวาระ
2. ตาย
3. ลาออก
4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออก ตามข้อ 30
5. ขาดการประชุมคณะกรรมเกินสาม (3) ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมกวร
6. ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ ในข้อบังคับนี้
7.ศาลมีคำสั่งให้ออก

ดังนั้น จะต้องตีความหรือแปลความให้ตรงตามลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด จะตีความหรือแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้

ปัจจุบัน ข้อบังคับของ ปตท. ข้อที่ 34 ยังคงใช้บังคับอยู่ ยังมิได้ถูกยกเลิก หรือ มีกฎหมายใดมาใช้บังคับแทนที่ ดังนั้นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตาม ข้อบังคับข้อที่ 34 เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังกับ เจตนาปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้น อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ทศพร ระบุในหนังสือฉบับนี้ว่า ขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ และมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติตามข้อบังดับคังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษรต่อไป

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า การประชุมบอร์ดนัดพิเศษ ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ยังไม่ได้มีการพิจารณาแต่งตั้ง ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนใหม่แทน ทศพร เพราะวาระการประชุมได้ถูกถอนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 

สำหรับ ทศพร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ ปตท. ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 8  เมษายน 2565 โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ดร.ทศพร เคยยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง กรรมการอิสระและประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยระบุว่าเป็นหตุผลส่วนตัว ท่ามกลางกระแสข่าวถูกแรงกดดันทางการเมืองบีบให้ลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เบรกไม่ให้ลาออก

สำหรับรายชื่อบอร์ดปตท.ปัจจุบัน ประกอบด้วย
•         ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการอิสระ ประธานกรรมการ
•         นายกฤษณะ บุญยะชัย กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ
•         นายพงศธร ทวีสิน กรรมการ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
•         นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการอิสระ ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน
•         พลเอก ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ กรรมการอิสระ ประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทน
•         ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ กรรมการ กรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
•         นายผยง ศรีวณิช กรรมการอิสระ กรรมการสรรหา กรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน
•         รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต กรรมการอิสระ กรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน กรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร
•         พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ
•         นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการอิสระ กรรมการกำหนดค่าตอบแทน
•         นายลวรณ แสงสนิท กรรมการ กรรมการสรรหา
•         รศ.ดร.ชโยดม สรรพศรี กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ
•         นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ กรรมการ, เลขานุการคณะกรรมการ, กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์