ถือได้ว่า เวที ส่องโอกาสเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2024 ที่จัดโดย CCC : Consortium of Creative Collaboration Thailand สมัชชาความร่วมมือการสร้างสรรค์ไทย จบลงอย่างสวยงาม ท่ามกลางมิติความร่วมมือใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น หลังผู้ร่วมงานทั้งหมด ซึ่งก็คือกูรูของหลายวงการกลับไปต่อยอดโปรเจกต์ รับมือเทนรด์โลกในปี 2024 เพื่อเป็นประโยชน์กับธุรกิจของตัวเอง และกับประเทศชาติ
โดยงานนี้อัดแน่นไปด้วยวิทยากรหลากหลายวงการ นับรวมแล้วกว่า 40 ท่าน ทั้งในอุตสาหกรรมบันเทิง อสังหาริมทรัพย์ เอสเอ็มอี เทคโนโลยี พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ที่จะเป็นส่วนส่งเสริมสนับสนุน และร่วมมือกันทำงาน เพื่อความเป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ มากขึ้น
ดร.อภิชาติ ประ สิทธิ์นฤทธิ์ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์และพันธมิตร ผู้ร่วมก่อตั้ง CCC ชี้ว่า การแลกเปลี่ยนความรู้ครั้งนี้ หัวใจสำคัญคือ Consortium of creative collaboration หรือคือการทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน-เชื่อมโยงกัน โดยไม่มีข้อจำกัดว่า ต้องเป็นองค์กรประเภทไหน เพราะไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรกลาง สมาคม มูลนิธิ ฯลฯ ได้ทั้งหมด ขอแค่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน มาตั้งใจจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับภาคประชาชนของประเทศ โดยการใช้ Creative Economy กับ Sharing Economy เป็นแกนหลัก

กูรู Creative Economy ลงนามความร่วมมือพหุภาคี การสร้างสรรค์ไทย
กล่าวได้ว่า ข้อมูลที่กูรูแต่ละสาขาสะท้อนออกมา ถือว่า หลากหลายและเป็นไปตามความเชี่ยวชาญของแต่ละวงการ เมื่อรวมเป็น creative economy ก็เหมือนเอาจิ๊กซอว์หลายชิ้น มาต่อจนเป็น 1 ภาพใหญ่ขึ้นมาได้ แต่ยังไม่จบแค่นี้ เพราะงานนี้ ยังมี การลงนามความร่วมมือพหุภาคี การสร้างสรรค์ไทย ที่จะนำพากูรูจากหลากวงการนี้ มาช่วยกันทำงานในโปรเจกต์ต่างๆ ของแต่ละคน เพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จลงได้โดยง่าย ซึ่ง ดร.อภิชาติ ชี้ภาพการทำงานร่วมกันว่า จะเกิดผลใน 2 ทาง คือ
1. การมีโปรเจกต์ของแต่ละคนในแต่ละโครงการ เป็นตัวตั้ง และผลัดกันเป็นเจ้าภาพ
2. เมื่อรวมกลุ่มจัดทำโครงการต่างๆ ได้แล้ว ก็จะสะท้อนภาพรวมไปยังหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือไปถึงหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเกิดความร่วมมือ เดินหน้าโปรเจกต์อย่างเป็นรูปธรรม
วงการอสังหาฯ กับ ศก.สร้างสรรค์ เชื่อมโยงกันอย่างไร?
ดร.อภิชาติ ยังกล่าวถึงการเชื่อมโยงภาคอสังหาริมทรัพย์ กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ว่า ถ้าเอาอสังหาฯ มาเป็นตัวตั้ง เราจะเป็นพื้นที่ (space) หนึ่ง ที่สมมุตว่า ทำเรื่องที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ในการทำให้เกิดการสร้างธุรกิจ หรือสร้างกิจกรรม สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมของสังคม เมื่อมีพื้นที่ มีสิ่งปลูกสร้างแล้ว ที่เหลือมันเป็นเรื่องของการเทรดไอเดีย ทำให้เกิดติ้งแต้งค์ ทำให้เกิดการระดมความคิดเห็น ทำให้เกิดความรู้ประสบการณ์ บูรณาการออกมาจนเป็นโปรเจกต์ต่างๆ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่า โปรเจกต์นั้นๆ เกิดจากความเชี่ยวชาญโดยใคร คนๆ นั้น หน่วยงานนั้น มีสิ่งที่เป็นทรัพยากรที่ดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องอะไร ที่เหลือก็เพื่อนๆ หรือคือ สมัชชาความร่วมมือที่ลงนามร่วมกัน มาช่วยกันต่อยอด
“เหมือนสร้างบ้าน 1 หลังครับ ใช้คนงานคนเดียว หรือช่างคนเดียวก็คงไม่สำเร็จ ต้องช่วยกัน โปรเจกต์ต่างๆ ก็เช่นกัน เราไม่สามารถรู้ทุกเรื่องได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า พอเราขาดความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องเงิน เราก็พยายามไปพัฒนา หรือทำให้ตัวเอง รู้ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริง มนุษย์เรายากมากครับที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในทุกๆ มิติ ทุกๆ ด้าน บางคนมีความถนัดเรื่องสายฮาร์ด ให้โดดไปทำ ดีพเทค มันคงไม่ใช่ พอทำ ดีพเทค แล้วให้คุณมาเป็นคน วาดภาพสวยงาม หรือเป็นคนที่เล่าเรื่องอะไรให้ออกมาน่าสนใจ ก็คงจะยาก”
ดร.อภิชาติ กล่าว
ประธานสภา SMEs กรุยทางช่วย SMEs รู้เทรนด์โลก
ด้าน สุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (เอสเอ็มอี) และภาคีเครือข่าย เผย ยังมีหลายเรื่องที่ธุรกิจเอสเอ็มอีต้องรู้ ทั้งเทรนด์เรา เทรนด์โลก ที่ต้องจับตา และทำให้สอดคล้องกัน เช่น ขณะนี้โลกพูดถึงธุรกิจที่ต้อง กรีน ต้องเห็นค่าคาร์บอนฟุ๊ตปริ้น ค่าความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) ขณะเดียวกัน ก็เป็นแชริ่งอีโคโนมี่ด้วยก็ได้ ดังนั้น สภาเอสเอ็มอี จึงต้องทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ พัฒนาคนที่อยู่ในระบบเอสเอ็มอี และพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ ให้ทันต่อเกณฑ์ของโลก

เช่น ตอนนี้กลุ่มประเทศยุโรปกับเกาหลีใต้ ทำเรื่องคาร์บอนฟุ๊ตปริ้น สร้าง Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) มีการบอกว่า ถ้าใครก็ตามจะอิมพอร์ตของเข้าไปในยุโรป คนๆ นั้น จะต้องผ่านเกณฑ์ หรือต้องสามารถบอกตัวเลข คาร์บอนฟุ๊ตปริ้นท์ (หรือคือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการนั้นๆ) ถ้าเราบอกไม่ได้ เขาก็จะคิดคำนวณแบบที่สูงที่สุดแทน ก็จะมีปัญหาต่อประเทศ ราคาของก็จะสูงขึ้น ดังนั้น ตอนนี้เรากำลังเริ่มพยายามสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ได้รู้และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
“และพอเรามาดูถึงเศรษฐกิจที่เป็นบีซีจีที่รัฐบาลประกาศไว้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ องค์กรขนาดใหญ่ บริษัทใหญ่ๆ เขาต้องทำบีซีจี เช่น อุตสาหกรรมยา ขนาดอุตสาหกรรมเล็กๆ อย่างเอสเอ็มอี ที่เป็น 1 ในซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ นั่นหมายความว่า ถ้าบริษัทใหญ่ๆ ทำให้ได้ เอสเอ็มอี ต้องทำได้ด้วย ถ้าขาดขาใดขาหนึ่งไป ก็จะไม่สามารถบอกตัวเลขคาร์บอนได้”
สุปรีย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มิติของเอสเอ็มอี ยังมีหลายเรื่อง ที่ต้องเข้าไปส่งเสริม เพื่อให้เอสเอ็มอี ที่มีอยู่นับล้านราย ได้ปรับตัว ซึ่งลำดับต้นๆ คือต้องบอกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า เรามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างไร ทำไมถึงต้องมาทำเรื่องคาร์บอนฟุ๊ตปริ้นท์ ภายใต้บีซีจีโมเดล
นอกจากนี้ ภายใต้ธุรกิจที่ต้องมีความยั่งยืน (Sustainability) ยังต้องเริ่มพัฒนาคน ทั้งในมิติศักยภาพด้านความรู้ และรวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะเรารู้ว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า สิทธิมนุษยชน จะเป็นหนึ่งในวิธีการ ‘การกีดกันทางการค้า’ ถ้าบริษัทไหนไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ จะไม่ถูกนับเข้าพวก

ดังนั้น สภาเอสเอ็มอี จึงต้องรวมกลุ่มผู้ประกอบการมาทำการใดการหนึ่ง แล้วบอกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ นอกจากการรวมกลุ่มกันแล้ว เรายังมาเพิ่มเติมองค์ความรู้ เรายังมาสร้างวิธีคิด สำหรับแนวการดำเนินการที่ใหม่ๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งจุดนี้ ยังไม่นับรวมเรื่อง Intelligent Economy ที่จะต้องมีเรื่อง ‘ดิจิทัล หรือ เทคโนโลยี’ ต่างๆ ที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพของเอสเอ็มอีไทย
สำหรับเวทีเสวนาครั้งนี้ นอกจาก 2 ท่านในข้างต้นแล้ว ยังมีกูรูหลายวงการร่วมงานคับคั่ง อาทิ
- จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์
- ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์ CEO of Digital Shortcut นางฟ้าการตลาดดิจิทัล
- รศ. ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่ง เสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
- คุณนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
และวิทยากรหลากหลายวงการรวมกว่า 40 ท่าน ร่วมงานครั้งนี้ โดยจัดขึ้นที่โซน SCBX Nexttech ชั้น 4 สยามพารากอน บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น




