ท่าอากาศยานเชียงใหม่ หรือสนามบินเชียงใหม่ เป็นอีกแห่งที่กำลังจะมีแผนพัฒนาปรับปรุง เนื่องจากปริมาณของการสัญจรทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ลานจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสาร ระบบถนนภายใน พื้นที่จอดรถ และสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ
น.ท.รณกร เฉลิมแสนยากร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ เปิดใจกับทีมข่าว Spacebar Big City ว่า ปัจจุบันนนี้สนามบินเชียงใหม่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ 8.5 ล้านคนต่อปี แต่ได้มีการบริหารจัดการ จึงสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 11.5 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับได้ 24 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดที่รองรับได้ 16 หลุมจอด
แต่หากโครงการพัฒนาระยะที่ 1 ที่มีวงเงินงบประมาณราว 15,000 ล้านบาทแล้วเสร็จ จะทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 35,000 ตารางเมตร รวมแล้วกว่า 100,000 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี เพิ่มความสามารถในรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ส่วนหลุมจอดจะเพิ่มเป็น 31 หลุมจอด

“หากเสร็จสิ้นโครงการสนามบินเชียงใหม่จะกลายเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตัวอาคารจะมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์โดยรักษาความเป็นล้านนา ความเป็นภาคเหนือในด้านสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกควบคู่กับความทันสมัย ซึ่งคาดว่าอีกประมาณ4 ปีน่าจะได้เห็นความสวยงามของสนามบินเชียงใหม่ในรูปแบบใหม่”
น.ท.รณกร กล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 การศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

ประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน ประชาชนบริเวณใกล้เคียงของโครงการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดโครงการขอบเขตการศึกษาการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพิจารณาพิจารณาประกอบการศึกษา ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกรอบการศึกษาโครงการจะมีระยะเวลาการดำเนินงานประมาณ 9 เดือน สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2568

ปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การรับความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้ง จะต้องทำให้สนามบินอยู่ร่วมกับประชาชนโดยรอบให้ได้ และจะนำเข้า ครม.ต่อไป รวมถึงขออนุมัติการใช้งบประมาณของ ทอท.ในการปรับปรุงสนามบินเชียงใหม่ และของบในการชดเชยเรื่องของเสียง เรื่องที่จะกระทบกับประชาชนโดยรอบ หากเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างกลางปี 2568 คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี ด้วยงบประมาณ 24,000 ล้านบาท(ทั้งโครงการ)

“เราเห็นการเติบโตของสนามบินเชียงใหม่ ผู้โดยสารต้องการที่จะเข้ามาที่จังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ตัวสนามบินมีความแออัด จึงได้มีการดูศักยภาพของรันเวย์ก่อน โดยจากการประเมินรันเวย์ของสนามบินเชียงใหม่ รับผู้โดยสารได้ประมาณ 20 ล้านคน โดยแบ่งเป็นต่างประเทศ 13 ล้านคน และภายในประเทศ 7 ล้านคน ตัวอาคารทั้งสองแห่งก็สามารถใช้ร่วมกันได้ในกรณีที่ผู้โดยสารของฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีผู้โดยสารมากเกินไป ทำให้คุ้มค่ากับการก่อสร้างได้อย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ ในส่วนของสนามบินแห่งที่2 ของจังหวัดเชียงใหม่หรือสนามบินล้านนานั้น กำลังจะประกาศผู้ชนะที่จะเข้ามาศึกษา คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ก่อนสรุปว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ ต้องรองรับเที่ยวบินหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติและภายในประเทศอย่างไร แล้วจะทราบว่าสนามบินล้านนาคุ้มค่ากับการก่อสร้างหรือไม่

ศุภมิตร กิจจาพิพัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาและขยายสนามบินเชียงใหม่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน อยากจะให้รัฐบาลรีบปรับปรุงก่อสร้างตามแผน หรือเร็วกว่าที่กำหนดไว้ก็ยิ่งดี เนื่องจากขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินเชียงใหม่ในปัจจุบันถือว่าเต็มความสามารถแล้ว
ซึ่งหลังจากที่ปรับปรุงแล้วก็น่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ และหากเพิ่มหลุมจอด ก็สามารถเพิ่มสายการบินจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้นด้วย
“หากหลังจากการพัฒนาปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว คาดว่าน่าจะสามารถใช้งานไปอีกได้กว่า 20 ปี แต่ในระหว่างนั้น ก็อาจจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับสนามบินแห่งที่ 2 หรือสนามบินล้านนาเพิ่มเติม”

สหัสวรรษ จับอันชอบ ชาวเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ส่วนตัวทำงานและมักจะใช้เครื่องบินในการเดินทางอยู่เป็นประจำ เนื่องจากสะดวกสบายและใช้เวลาไม่นานหากเทียบกับการเดินทางด้วยวิธีอื่น หากพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ จะเป็นประโยชน์กับจังหวัดในด้านของการเดินทาง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในส่วนของผลกระทบด้านเสียง คิดว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็น่าจะมีการพูดคุยและหาทางออกร่วมกันได้
“แต่ข้อเสียก็อาจจะมีบ้าง เนื่องจากหากพัฒนาสนามบิน แต่ไม่มีการพัฒนาเส้นทางที่เป็นถนนภายในจังหวัด จะทำให้มีการจราจรติดขัด เนื่องจากมีคนเดินทางไปมากยิ่งขึ้น จึงควรมีการพัฒนาถนนและวางแผนไม่ให้การจราจรติดขัดด้วย”

ข้อมูลจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ พบว่า ปัจจุบันมีสายการบินภายในประเทศจำนวน 6 สายการบิน ที่บินตรงเป็นประจำทุกวัน ได้แก่
- THAI LION AIR
- BANKOK AIRWAYS
- NOK AIR
- THAI VIETJET AIR
- THAI AIRWAYS
- THAI AIRASIA
ส่วนสายการบินภายนอกประเทศ มี 23 สายการบิน
- RUILI AIRLINES
- CHINA SOUTHERN AIRLINES
- AIR CHINA
- JUNEYAO AIR
- CHINA EASTHERN AIRLINES
- SPRING AIRLINES
- SICHUAN AIRLINES
- CHINA AIRLINES
- EVA AIRWAYS
- STARLUX AIRLINES
- KOREAN AIR
- ASIANA AIRLINES
- JIN AIR
- MYANMAR AIRWAYS INTERNATIONAL
- MALAYSIA AIRLINES
- MYANMAR NATIONAL AIRLINES
- LAO AIRLINE
- SCOOT
- JEJU AIR
- EASTAR JET AIRLINE
- HONG KONG EXPRESS AIRWAYS
- THAI VIETJET AIR
- THAI AIRASIA
