Disrupts ร้านหนังสือ ยอดตกเกินครึ่ง…ขายด้วยใจไปรอด?

23 ต.ค. 2567 - 02:00

  • เจ้าของร้านหนังสือเมืองเชียงใหม่ยอมรับยอดขายลดกว่าครึ่ง ชี้ทางรอดต้องทำให้เป็นมากกว่าธุรกิจและต้องมีใจรัก

  • ดิ้นสู้ปรับตัวเหตุผู้อ่านมีทางเลือกอ่าน-ซื้อมากขึ้น เพิ่มกิจกรรม-เพิ่มสินค้าหลากหลาย

  • นักวิชาการชี้ปัจจัยมาจากคนซื้อลด แข่งกับรายใหญ่ไม่ได้ ผู้อ่านหันไปใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Hero.jpg

ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่สำรวจร้านขายหนังสืออิสระในตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ทำตามแนวทางที่ตั้งไว้ หรือ ความต้องการของลูกค้า พูดคุยเกี่ยวกับกระแสการเลือกซื้อหนังสือของลูกค้า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาทำให้หนังสือในรูปแบบเล่ม ได้รับความนิยมน้อยลง รวมถึงทางร้านต้องมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้สามารถยืนระยะต่อไปได้

ร้านหนังสือ Book Re:public ในซอยวัดอุโมงค์ ถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 13 ปี หนังสือที่โดดเด่นจะเป็นประเภท หนังสือวัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และการเมือง ซึ่งสถานที่ที่นี้ยังเป็นมากกว่าร้านหนังสือเนื่องจากที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ของนักกิจกรรมทำงานเคลื่อนไหวสังคม ด้วยบรรยากาศน่ารักอบอุ่นที่มีมุมชาเล็กๆ ไว้ให้บริการผู้มาเยือน

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo02.jpg

รจเรข วัฒนพาณิชย์  Co-Founder ร้าน Book Re:public เปิดเผยว่า หนังสื่อมีเรื่องราวเยอะมาก จึงอยากเปิดร้านหนังสือควบคู่กับการจัดกิจกรรมไปด้วย ตั้งใจนำความรู้ในหนังสือมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมก็เลือกเนื้อหาของกิจกรรมที่สอดคล้องกับร้านหน้งสือเอามาจับกับเนื้อหาตัวไหนได้บ้าง อย่างน้อยเนื้อหาบางอย่าง ไม่ได้อยู่แค่หนังสือเล่มใดเล่มนึง หัวใจหลักการทำงานด้วยคือสิทธิมนุษย์ชน การแลกเปลี่ยนทางความคิด

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo03.jpg

“หากถามว่าจะยืนระยะในการทำร้านหนังสือได้อย่างไร อยากจะบอกว่า หากจะหวังรวยจากการทำร้านหนังสืออิสระ คงเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้และตลอดมามันคือความชอบในกลิ่นอายของบรรยากาศที่ได้พบกับผู้คน แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้มากกว่า ส่วนจะทำยังไงให้อยู่รอดไปได้ ก็คงต้องหากิจกรรมอื่นมาเสริม พร้อมๆกับทำอาชีพอื่นไปด้วย”

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ communication designer, Book Re:public เปิดเผยว่า คนอ่านหนังสือน้อยลงไหม จริงๆอาจจะไม่ได้อ่านน้อยลง แต่อาจจะหันไปอ่านด้วยอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนที่เป็นรูปเล่มน้อยลงก็มีหลายปัจจัยอย่างราคาหนังสือ ทางเลือกการอ่านในสื่อต่าง ๆในแง่พฤติกรรมการอ่าน คนอ่าน จะเลือกในรูปแบบของออนไลน์มากขึ้น

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo04.jpg

“ธุรกิจร้านหนังสือตอนนี้ต้องมีวางแผนว่า จะมีการใช้พื้นที่ในร้านยังไงให้มากกว่าการขายหนังสือ ต้องตีความและทำกิจกรรมอื่นๆเสริมช่วย อาจจะต้องนำสินค้าอื่นๆมาขายด้วย หาจุดเด่น หากลุ่มเป้าหมายให้เจอ”

อีกมุมหนึ่งพาไปดูร้านหนังสือ ร้านเล่า เพราะทุกสิ่งมีเรื่องเล่าให้ตัวเอง ตั้งอยู่ที่ถนนนิมมานเหมินทร์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่จุดเริ่มต้นมาจากอุดมการณ์ของเพื่อนสี่คน จากความตั้งใจที่อยากให้มีพื้นที่ของคนรักหนังสือที่เปิดเป็นพื้นที่ของคนรักการอ่านมากว่า 24 ปี ภายในร้านเรียกได้ว่า มีความขลังจากหนังสือที่จัดวางอยู่ เจ้าของร้านที่แนะนำหนังสือและพูดคุยด้วยเป็นกันเอง เพลิน ผ่อนคลายจนแทบจะลืมเวลาขณะที่อยู่ในร้าน

สำหรับหนังสือภายในร้านจะแบ่งหมวดวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล ที่นี่รวบรวมหนังสือวรรณกรรมเอาไว้ทั้งหลากหลาย รวมถึงแนววิชาการ สังคมวิทยา และยังมีสินค้าอื่นๆให้เลือกชม

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo06.jpg

กรองทอง สุดประเสริฐ ผู้บริหารร้านเล่า เปิดเผยว่า อยากทำร้านเล่าให้เป็นมากกว่าร้านหนังสือ การจะทำเป็นเชิงธุรกิจ 100% มันทำได้ยากในร้านหนังสืออิสระ และต้องทำงานอื่น ๆเสริมเพื่อให้ร้านอยู่รอดได้ และมีจุดขายแตกต่าง เช่น พยายามหาขายหนังสือที่หายากที่ผู้อ่านตามหา

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo05.jpg

“หากเปรียบเทียบก่อนโควิดกับตอนนี้ ทั้งคนมาซื้อและรายได้หายไปกว่าครึ่ง ยอดคนไทยซื้อหนังสือหลายไปเยอะมาก คนที่มาส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเก่าๆ ส่วนชาวต่างชาติก็มีเข้ามาบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก พฤติกรรมการซื้อของคนอ่านเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามา ก็ทำให้เราก็ต้องหารายได้จากทางอื่นมาเสริม ส่วนจะมีการปรับปรุงพื้นที่ในร้านเพื่อใช้ทำกิจกรรมอื่นๆหรือไม่ ก็กำลังคิดอยู่ แต่คงไม่ทิ้งขุมทรัพย์ทางปัญญาแห่งนี้ไปแน่นอน”

ผศ.ดร.พบกานต์ อาวัชนาการ สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิเคราะห์ว่า  สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร้านขายหนังสือในยุคนี้ เริ่มทยอยปิดตัวลง คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์-อุปทานของร้านหนังสือ และพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ การปิดตัวลงของร้านขายหนังสือเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยสองด้าน ได้แก่ (1) ปัจจัยทางด้านอุปสงค์และพฤติกรรมผู้บริโภค และ (2) ปัจจัยทางด้าน อุปทาน หรือผู้ขาย

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo07.jpg

“โดยปัจจัยทางด้านอุปสงค์และพฤติกรรมผู้บริโภค ก็จะเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้มีบทบาทอย่างมาก ในความต้องการหนังสือที่เป็นเล่ม และพฤติกรรมผู้อ่านหนังสือ คนส่วนใหญ่ก็จะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวอยู่แล้ว ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ ได้กลายมาเป็นสื่อ หรืออุปกรณ์หลัก ในการเรียน หรือการทำงานและทำให้สื่อดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสืออย่างมีนัยยะสำคัญ จากเดิมหนังสือแบบเป็นเล่มๆ ได้กลายมาเป็น e-book, Audio book และยิ่งทำให้หนังสือในรูปแบบนี้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้หนังสือในรูปแบบดิจิทัล ได้เข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี เช่น การดาวน์โหลด หรือซื้อหนังสือออนไลน์ เพื่ออ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถดาวน์โหลดมาเก็บไว้ได้ทีละหลายๆ เรื่อง และจำนวนมาก แทนที่จะต้องพกหนังสือหลายๆ เล่ม  ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการซื้อหนังสือเป็นเล่มลดลงอย่างมาก

“ในยุคดิจิทัล หนังสือไม่ได้เป็นสื่อหลักที่ทำให้หน้าที่ให้ความรู้ หรือความบันเทิง อีกต่อไป โดยมีสื่อในรูปแบบอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ได้เช่นเดียวกับหนังสือ เข้ามาแข่งขันและแทนที่หนังสือด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook YouTube TikTok เป็นต้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยหันไปบริโภคเนื้อหาผ่านสื่อออนไลน์ที่อัพเดทและหลากหลายมากกว่า ส่งผลให้การซื้อหนังสือเล่ม ลดลงไปอีก”

ทั้งนั้น หากพิจารณาปัจจัยทางด้านอุปสงค์ (หรือความต้องการ) ของหนังสือที่เป็นเล่ม และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จะพบว่า ความนิยมของสื่อดิจิทัล และความนิยมในการซื้อหนังสือจากร้านหนังสือออนไลน์ (หรือการบริโภคเนื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านหนังสือทยอยปิดตัวลงไป เนื่องจากไม่มีคนซื้อหนังสือที่เป็นเล่มแล้วนั่นเอง

ผศ.ดร.พบกานต์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยทางด้านอุปทานหรือผู้ขาย เทคโนโลยีก็ได้เข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ขายหรือร้านหนังสือเช่นกัน โดย 3 ปัจจัยสำคัญทางด้านผู้ขายที่อาจส่งผลให้ร้านขายหนังสือปิดตัวลงนั้น ได้แก่ การเข้ามาของ online platform หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น Digital Disruption โดยทำให้กระบวนการจัดจำหน่ายหนังสือเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

“ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้บริโภค สามารถซื้อหนังสือได้ง่ายและรวดเร็ว ยังทำให้ผู้ผลิตสื่อ สำนักพิมพ์ สามารถเผยแพร่ ขายหนังสือให้แก่ผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาร้านขายหนังสือรายย่อยอีกต่อไป หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ร้านขายหนังสือไม่มีความจำเป็นในห่วงโซ่อุปทานของการขายหนังสือแล้ว”

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo08.jpg

การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ โดยร้านขายหนังสือขนาดใหญ่ และแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Amazon และ Shopee มีระบบ เทคโนโลยี และโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ในการขายหนังสือออนไลน์ ชำระเงิน รวมไปถึงการจัดส่งถึงบ้าน ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี  

ไม่เพียงเท่านั้น ร้านค้าหนังสือขนาดใหญ่ยังมีความได้เปรียบจากสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Economies of Scale (การประหยัดเนื่องมาจากขนาด กล่าวคือ การเพิ่มขนาดการผลิตจะทำให้ต้นทุนลดลง) โดยผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ที่สั่งซื้อหนังสือจำนวนมาก จะทำให้สามารถลดต้นทุนการจัดซื้อหนังสือได้ และสามารถขายหนังสือในราคาที่ต่ำกว่า (ร้านหนังสือรายเล็ก) ให้แก่ผู้บริโภคได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ร้านหนังสือรายเล็กที่ไม่สามารถสั่งซื้อหนังสือในปริมาณที่มากได้ ไม่สามารถเจรจาต่อรองกับสำนักพิมพ์ได้ จะมีต้นทุนในการจัดหาหนังสือมาขายที่แพงกว่า และไม่สามารถแข่งขันในด้านราคากับร้านค้ารายใหญ่ได้

”ร้านหนังสือ มีต้นทุนคงที่ที่สูง ไม่ว่าจะเป็น ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟและค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ตลอดจนต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังและต้นทุนในการเก็บหนังสือในกรณีที่ขายไม่ได้อีกด้วย หากรายได้จากการขายไม่เพียงพอต่อต้นทุน ก็จะต้องเผชิญภาวะขาดทุน และปิดตัวลงไป”

หากพิจารณาปัจจัยทั้งสองด้านแล้ว จะพบว่าร้านหนังสือที่เห็นเริ่มทยอยปิดตัวลงไป มีสาเหตุมาจากร้านไม่สามารถขายหนังสือที่เป็นเล่มได้ หนังสือที่เป็นเล่มขายไม่ได้ โดยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า คนไทยอ่านหนังสือแบบรูปเล่มน้อยลง และผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้เวลาและเปลี่ยนไปบริโภคเนื้อหาในรูปแบบออนไลน์ อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและดิจิทัล จนอาจจะกล่าวได้ว่า กรณีของร้านหนังสือที่ทยอยปิดตัวลงไปนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง Digital Disruption ที่หนังสือแบบรูปเล่มได้ถูก disrupt โดยสื่อดิจิทัลออนไลน์

chiang-mai-bookstore-situation-disruption-sales-fell-SPACEBAR-Photo09.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์