รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดเผยถึง เมื่อเวลาประมาณ 13.20 น.วันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7.7 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในเมียนมา จนเกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยรอยเลื่อนสะกาย วางตัวอยู่แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านกลางประเทศเมียนมา โดยถูกขนานนามว่า ‘ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา’ เคยเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ขนาด 2.9 - 7.3 ประมาณ 280 ครั้ง ถือเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนมีพลังอันดับต้น ๆ ในอาเซียน

“รอยเลื่อนสะกาย ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ค่อนข้างทำลายสถิติแรงมาก แม้ว่าจุดศูนย์กลางจะใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ของเมียนมา แต่ก็สามารถจะถ่ายพลังเข้ามายังประเทศไทย กรณีของตึกถล่มที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นดินอ่อน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ในส่วนของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อาคารที่มีการก่อสร้างต้านแผ่นดินไหว คาดว่าตัวโครงสร้างจะไม่ได้รับความเสียหาย”
“การเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขึ้นเป็นการส่งสัญญานเตือนว่า ขนาด 7.7 ได้เกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทยแล้ว ต่อไปอาจจะมีการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่านี้ ต่อไปการปกป้องอาคารสูงต้องให้มีการดำเนินการภายใต้กฎหมาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการออกแบบอาคารสูงที่อยู่ในจังหวัดที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ต้องรองรับการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้”

รศ.ชูโชค กล่าวอีกว่า ตัวอาคารบางอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จะแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ การภัยพิบัติจากความเสียหายของโครงสร้างสำคัญ เช่น เสา หรือคาน จะมีการระงับการใช้งาน และเข้าไปซ่อมแซม และงดใช้อาคาร จะมีอยู่ประมาณ 3-4 อาคารเก่าในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และสร้างก่อนปี 2540 ที่ไม่ได้มีการออกแบบต้านแผ่นดินไหว โดยจะได้เข้าไปตรวจสอบการค้ำยัน
“ส่วนอาคารใหม่ เบื้องต้นเป็นการร้าวแตกของส่วนประกอบ ปูน ไม่ใช่ส่วนสำคัญ แต่จะมีวิศวกรของเทศบาลนครเชียงใหม่เข้าไปตรวจสอบอย่างเร่งด่วย เพื่อให้ประชาชนสบาย ส่วนอาคารที่สวนดอกปาร์คมีการหล่นของคอนกรีตมวลเบา ไม่ได้มีส่วนสำคัญของโครงสร้าง และเข้าไปซ่อมแซมให้เรียบร้อย และกลับมาใช้การได้ปกติ”

ส่วนคอนโดมิเนียมที่มีความสูงกว่า 30 ชั้น พบว่า เบื้องต้นมีการกะเทาะตัวของปูน แต่ทางวิศวกรกำลังเข้าไปเร่งตรวจสอบ ซึ่งไม่น่าจะมีผลกับโครงสร้าง และในส่วนที่เป็นอาคารของประชาชนที่ได้รับความเสียหายให้แจ้งไปยังหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สังกัด เพื่อเข้าไปช่วยตรวจสอบให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด

“จุดศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในประเทศเมียนมา ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ และสร้างความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เพราะมีระยะเวลาโยกนาน และเกิดอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งด้วยกัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แผ่นดินไหวจะแรงขึ้นในอนาคต เพราะมีสถิติเพิ่มแถวรอยเลื่อนสำคัญที่เคยหลับอยู่ และกลับมาแผ่นดินไหวอีกครั้ง และมีความน่ากลัว แต่ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะหลังจากนี้จะเกิดอาฟเตอร์ช็อคที่เบาลงเรื่อยๆ ขนาด 2-3 ยาวประมาณเป็นร้อยครั้งในช่วง 1-2สัปดาห์นี้”
รศ.ชูโชค กล่าว
ขณะที่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทั้ง 25 อำเภอสำรวจ และประเมินความเสียหายผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย เบื้องต้นไม่ไม่พบอาคารสูงถล่ม แต่จะมีความเสียหายของอาคาร เช่น ดวงตะวันคอนโดมิเนียม (อาคารสูง 8 ชั้น) ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง เทศบาลนครเชียงใหม่จึงสั่งห้ามเข้าใช้อาคาร
“โบราณสถานและสถานที่ราชการ พบวัดเสียหาย 2 วัด วัดต้นอ้อ และวัดสันทรายต้นก่อ และบ้านเรือนประชาชน: พบความเสียหาย 5 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ดอยเต่า, อ.พร้าว, อ.หางดง, อ.สันกำแพง และ อ.ไชยปราการ ขณะนี้สถานการณ์ด้านการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบแล้ว ไม่พบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต”

สถานการณ์เขื่อนเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงฯ เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบแล้วมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย พร้อมรองรับแรงแผ่นดินไหวไม่มีผลกระทบ

ส่วนบรรยายกาศในจังหวัดเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าหลายแห่ง ช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ประชาชนได้แตกตื่นวิ่งออกมาอยู่ด้านนอกอาคารด้วยความตกใจ ได้มีการประกาศให้ทุกคนออกนอกพื้นที่เป็นการชั่วคราว เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร เช่นเดียวกับโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการอพยพผู้ป่วยมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยนอก งดให้บริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
พิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี แถลงว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ขนาดความลึก 10 กม. ศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย ในเมืองมัณฑะเลย์ ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือของเมืองสะกาย ของเมียนมาเพียง 16 กม.และอยู่ห่างจากกรุงเทพฯานคร 1,100 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลรับรู้ ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน

สำหรับรอยเลื่อนสะกาย เมื่อปี พ.ศ.2473 เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 7.3 และทำให้มีผู้เสียชีวิตในเมียนมามากกว่า 500 คน
ในรอบ 50 ปีช่วง 2516-2566 เกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนสะกาย ทั้งหมด 668 ครั้ง ขนาด 2.9-7.0 ครั้งใหญ่สุดรอบ 50 ปีขนาด 7.0 เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2534 ที่เมือง Mogok ในมัณฑะเลย์ โดยรอยเลื่อนสะกาย ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลังมากที่สุดในผืนแผ่นดินใหญ่ประเทศในอาเซียน เทียบเท่ากับรอยเลื่อนซานแอนเดรียส (San Andreas Fault) ของประเทศสหรัฐอเมริกา
รอยเลื่อนสะกายมีความยาว 1,500 กิโลเมตร และพาดผ่านตอนกลางของเมียนมา เทือกเขาหิมาลัย ผ่านลงมาถึงกรุงย่างกุง ยาวลงในอ่าวเบงกอล และทะเลอันดามัน
