ผู้สื่อข่าว Spacebar Big City ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Bookstoreที่ตั้งอยู่ที่อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าได้ประกาศยุติการดําเนินงานและปิดกิจการ ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา หลังเปิดบริการมานาน 13 ปี
ทีมข่าว Spacebar Big City ได้พูดคุยกับนักศึกษาได้ข้อมูลว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้การเรียน หรือการอ่านหนังสือเปลี่ยนตามไปด้วย โดยหันมาอ่านในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสะดวกกว่า และโอกาสที่จะเข้าไปซื้อหนังสือที่ร้าน ก็ไม่บ่อยนัก

ณัฐวรา คล้ายคง นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า หากเป็น 4-5 ปีที่แล้ว หนังสือที่เป็นรูปเล่มถือว่าสำคัญสำหรับตัวเองมาก แต่พอมาตอนนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยน การเข้าถึงความรู้ต่าง ๆ ง่ายขึ้นมาก และมันเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ตอนนี้หนังสือเป็นเล่มจึงไม่มีความสำคัญมากนัก
“ในส่วนของเนื้อหาการเรียนก็หาตามอินเทอร์เน็ต ตามเว็ปต่างๆ หรือหากต้องการข้อมูลเฉพาะตอนนี้ร้านหนังสือเขาก็มีออนไลน์แล้ว ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องซื้อก็ซื้อผ่านออนไลน์”

“หากมีบางอย่างที่เราอยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ เช่น คนเขียนหนังสือเล่มนี้คือคนที่เราติดตามผลงาน อันนั้นก็จะซื้อหนังสือเป็นเล่มเก็บไว้อยู่ หรือบางกรณีอย่างเพื่อนที่เขาเรียนเกี่ยวกับกฎหมาย หนังสือแบบรูปเล่มก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ด้วยเนื้อหาที่มันเยอะ หนังสือคงสะดวกกว่าไฟล์ใหญ่ๆ และการไฮไลท์อ่านต่างๆ ก็ง่ายกว่า”
นาราภัทร ประดิษฐ์เขียน นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า การเขียน หรือ ออกหนังสือในตอนนี้ต้องตามกระแสของโลกให้ทัน คนถึงจะเลือกซื้อ หรือ อ่าน ส่วนการอ่านแบบออนไลน์กับแบบรูปเล่ม ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

“อย่างเป็นรูปเล่มเราสามารถเก็บสะสมไว้ได้ สามารถนำมาขายต่อให้คนที่สนใจจะอ่าน หรือหากไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถอ่านได้ แต่ส่วนมากจะมีราคาแพง หากเป็นแบบออนไลน์ ก็จะมีราคาที่ถูกกว่า แต่มีรายจ่ายเพิ่ม ที่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการอ่าน”

สวลี ศรีวรกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าไปใช้บริการศูนย์หนังสือ มช. เปิดเผยว่า แอบเสียดายที่ปิดตัวลงไป มองว่ายุงมีความสำคัญในระบบการศึกษา จึงอยากให้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่านี้ คิดว่าเป็นพื้นฐานของระบบการศึกษา แต่ถ้าในแง่ธุรกิจก็พอเข้าใจได้
“ส่วนตัวเป็นคนที่เข้าร้านหนังสือค่อนข้างบ่อย แต่ช่วงนี้ที่เรียนมหาวิทยาลัยจะอ่านหนังสือแนวโปรแกรมภาษาคอมพิวเตอร์ต่างๆ ส่วนใหญ่จึงเป็นตำราเรียนซะมากกว่า การที่ร้านหนังสือเริ่มทยอยปิดตัวลง แอบเสียดายที่ปิดตัวลงไป เนื่องจากยังชอบการได้จับต้องหนังสือเป็นเล่ม”

“เข้าใจตอนนี้คนอ่านออนไลน์มากกว่า แต่ร้านหนังสือควรปรับตัวเป็นระบบกึ่งออนไลน์ออนไซต์ และควรปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ในการทำงานแบบ co-working space มากกว่า น่าจะได้ใช้หนังสือในร้านมากขึ้นตอบโจทย์สำหรับนักศึกษา”
“สำหรับการอ่านแบบเล่ม ก็จะดีต่อสายตา มีสมาธิเพิ่มขี้น แต่ข้อเสียคือพกพาไปไหนมาไหนลำบาก เก็บรักษาค่อนข้างยาก ส่วนการอ่านแบบออนไลน์ข้อดีก็คือสามารถพกไปไหนก็ได้ทุกที่สะดวกสบายต่อการใช้งาน”

กัญจน์ณภัทร นิธิศสุทธิบุตร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า ในสมัยที่เรียนอยู่ มช.ไม่เคยไปใช้บริการของศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Bookstore แต่ใช้วิธีไปยืมหนังสือหอสมุด ซึ่งตอนนี้อ่านหนังสือเรียนอ่านทุกวัน ส่วนหนังสือนอกเวลาไม่ได้อ่านเลยมานานกว่า 2 ปี ร้านหนังสือก็ไม่ค่อย แต่จะไปงานหนังสือสัปดาห์หนังสือที่จัดปีละครั้ง
“การที่ร้านหนังสือปิดตัวไปก็เข้าใจได้ เป็นเรื่องปกติ เพราะว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป เข้าถึงเทคโนโลยีง่าย หาอะไรอ่านได้กว้างกว่า เร็วกว่า ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง หนังสือบางทีไม่มีอัพเดต”
“ยังเสียดายบรรยากาศร้านหนังสือ มันดูขลัง น่าค้นหา แล้วก็ยังชอบความรู้สึกที่ได้อ่านจากกระดาษมากกว่าอยู่ดี การปรับตัวของร้านหนังสือคิดว่าอาจจะต้องหาหนังสือแนวใหม่ๆ หรือที่เข้ากับคนรุ่นใหม่มาขายมากขึ้น หรือขายพวก ebook ทำการโปรโมทให้น่าสนใจ เพิ่มบริการจัดส่ง หรือ เพิ่มพื้นที่นั่งอ่านในร้าน มีขายกาแฟ ก็อาจจะช่วยชวนคนออกมาพักผ่อนได้”

นักศึกษาหลายคน บอกตรงกันว่า สำหรับทางรอดของร้านขายหนังสือที่เป็นหน้าร้าน แม้จะไปต่อได้ยากมากขึ้น แต่ถ้าเจ้าของร้านหนังสือหรือโรงพิมพ์ หันมาปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น สถานที่เปลี่ยนเป็นคาเฟ่ พร้อม ๆกับการขายหนังสือ อาจจะทำให้ยังมีรายได้เข้ามา แม้จะน้อยแต่ก็ยังดี ถ้ายังคงอยากเก็บร้านไว้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มในการบริหารจากร้านหนังสือ โรงพิมพ์เปลี่ยนมาเป็นคาเฟ่ ส่วนคนเขียนก็ต้องปรับตัวเขียนแล้วอัพขึ้นออนไลน์ สร้างตัวตนในโลกสังคมออนไลน์ให้คนรู้จักมากขึ้น
