ซีพี เข้มซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ‘เผา ไม่รับ’ ขอมีเอกสารสิทธิ์

29 เม.ย. 2567 - 03:00

  • เกษตรกร ขอรัฐ บังคับเอกชนใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับทุกรายเท่าเทียม

  • เผย ซีพี เป็นรายเดียวทีเข้มงวด ‘ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่มาจากการเผา’

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Hero.jpg

เสียงสะท้อนจากเกษตรกร ต่อนโยบายรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ที่ส่วนหนึ่งก็มองว่า เป็นเรื่องดี หลังการเข้มงวด ไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ‘ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และมีที่มาจากการเผา’ ส่งผลดีกับสภาพอากาศ ลด PM 2.5 ได้ ทั้งยังทำให้เกษตรกรได้ขายข้าวโพดฯ ราคาดีขึ้น แต่เรื่องดีแบบนี้ ภาครัฐควรบังคับอย่างถ้วนหน้า ให้มีการตรวจสอบย้อนกลับทุกรายอย่างเท่าเทียม เพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ส่วนรอบด้านว่าอย่างไรกันบ้าง?

ฟากฝั่งผู้ประกอบการต้นเรื่อง หรือ ซีพี โดย ไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เผย ซีพีมีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืนบังคับใช้กับทุกกลุ่มธุรกิจ โดยในกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่เผา สนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามนโยบายเครือฯ คือ “นโยบายไม่รับซื้อ และไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากพื้นที่รุกป่า และพื้นที่ที่มาจากการเผา”

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Photo01.jpg

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559เป็นต้นมา และเชื่อมั่นว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับคือทางออกในการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าและการเผาแปลง ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ โดยซีพีพร้อมเป็นต้นแบบนำเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับหยุดฝุ่นควันภาคเหนือ

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับของเรา สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาได้ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า ข้าวโพดที่จัดซื้อไม่ได้มาจากการเผาและบุกรุกป่า นอกจากนี้ คู่ค้าและเกษตรกร ได้ปรับตัวลงทะเบียนเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับ หลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่ที่มากขึ้น เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญคือการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีเกษตรกรในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีมากกว่า 40,000 ราย”

นายไพศาล กล่าว

ตรวจสอบย้อนกลับ ‘เข้มข้น’ อย่างไรบ้าง?

ชนาธิป กองทอง กรรมการ บริษัททวีทองการเกษตร อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ผู้ประกอบการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่บริษัททวีทองรับซื้อจากเกษตรกรส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่สิงหาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยมีปริมาณรับซื้ออยู่ที่ 18,000 ตันต่อปี  มีคู่ค้าเอกชนประมาณ 3 - 4 แห่ง โดยปัจจุบันมีซีพีเป็นคู่ค้าเพียงรายเดียวที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาบังคับใช้

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับซีพีจะต้องลงทะเบียนเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยใช้ข้อมูลจากสมุดทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีข้อมูลการถือครองที่ดินของเกษตรกรที่ระบุชัดเจนถึงพิกัดของเอกสารสิทธิ์แปลงเพาะปลูก จำนวนพื้นที่ (ไร่) และชนิดพืชที่เพาะปลูก 

ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเข้าในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีที่จะไปเชื่อมโยงกับแผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียม และแผนที่จุดความร้อน หรือ Hot Spot ของ NASA เพื่อตรวจสอบการเผาในแปลงเพาะปลูก โดยระบบจะมีการแจ้งเตือนเมื่อพบการเผาในแปลงเพาะปลูก เกษตรกรที่เผาแปลงจะต้องถูกตักเตือนก่อนในครั้งแรก หากยังมีครั้งต่อไปจะถูกยกเลิกและขึ้นบัญชีดำห้ามซื้อขายกับซีพีทันที

ปัจจุบันลานรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของทวีทองการเกษตร มีเกษตรกรอยู่ในระบบของซีพีประมาณ 30% จากเดิมที่เพียง 10% เท่านั้นที่ยอมเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับ

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Photo02.jpg

ทั้งนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะเริ่มมีความเข้าใจประกอบกับแรงจูงใจเรื่องของราคาที่สามารถขายได้ราคา นอกจากนี้ สังเกตุได้ว่าเกษตรกรได้ตระหนักถึงเรื่องของ PM 2.5 และรับรู้ถึงผลดีของการมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ คือ ทำให้เกษตรกรไทยมีโอกาสมากขึ้นในตลาดโลก เนื่องจากในอนาคตก็จะมีกฎหมายของ EUDR ซึ่งเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า มีผลต่อการนำเข้าสินค้าเข้ายุโรป 7 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ กาแฟ โกโก้ และวัว ไม่ให้มีการรับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากบุกรุกพื้นที่ป่า และยังทำให้ผู้ค้าสามารถรู้ปริมาณผลผลิตล่วงหน้า การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับกับซีพีจึงถือเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ด้าน นายจิตรกร แก้วยองผาง กรรมการ บริษัท เค.วาย.พี. ธุรกิจการเกษตร (2012) จำกัด เจ้าของลานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร อ.ลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า ในฐานะคู่ค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับซีพีใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่เริ่มต้นเนื่องจากมองถึงแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งช่วงแรกของการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เกษตรกรไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้ามปลูกข้าวโพดในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีความรู้เรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ จึงประสานกับซีพีให้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับเกษตรกร จนมีเกษตรกรเข้าร่วมลงทะเบียนใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ประมาณ 50% ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีเอกสารสิทธิ์

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Photo03.jpg

ต่อมาเมื่อเกษตรกรรายอื่น ๆ เห็นว่าการขายข้าวโพดที่มาจากแปลงปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่เผาเมื่อขายให้กับซีพีได้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด จึงสนใจเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับมากขึ้น จนถึงปัจจุบันปรากฏว่าเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์เข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับกับเราแล้ว 80% 

ทั้งนี้มองว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับกับซีพีมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน รวมถึงยังเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากซีพีเป็นลูกค้าที่มีมาตรฐานระดับโลก ถ้าสินค้ามีคุณภาพมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยขั้นตอนการรับซื้อที่ลานจะมีการให้บริการสีข้าวโพด จากนั้นจะตีราคา วัดความชื้นดูคุณภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอบลดความชื้น แยกสิ่งเจือปน ร่อนเม็ดแตก เป่าฝุ่นออก ตามกระบวนการควบคุมคุณภาพ ก่อนนำส่งเข้าโรงงานของซีพี ซึ่งการส่งเข้าโรงงานผลิตอหารสัตว์ของซีพีจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลตามที่มีลงทะเบียนไว้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับ

แนวโน้มเกษตรกร เข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับ ‘เพิ่ม’

ขณะที่ในส่วนของเกษตรกรที่อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพี ขณะนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลังเห็นผลดีที่เกิดขึ้นรอบด้าน

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Photo04.jpg

โดย รัตนา แกนุ เกษตรบ้านบนนา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนได้เข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีจากคำแนะนำของพ่อค้าคนกลาง ที่แจ้งว่าต่อไปหากต้องการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับซีพีจะต้องลงทะเบียน เจ้าหน้าที่จึงมาให้คำแนะนำ มีการตรวจสอบเอกสารสมุดทะเบียนเกษตรกรและเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน พร้อมช่วยลงข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ จึงไม่ยุ่งยาก 

ข้อดีของการขายข้าวโพดให้ซีพี คือ ได้ราคาดีและไม่ยุ่งยากขอเพียงมีเอกสิทธิ์ที่ดินและไม่เผาแปลงปลูกเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ก็หันมาใช้วิธีไถกลบมากขึ้น เพราะมีการรณรงค์และเน้นย้ำจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐห้ามเผา ทำให้ชาวบ้านเกรงกลัวกฎหมาย ที่ผ่านมายึดทำอาชีพการเกษตรและปลูกข้าวโพดมาโดยตลอด ปลูกในแปลงที่มีเอกสารสิทธิ์พื้นที่ 4 ไร่ โดยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 รอบในช่วงฤดูฝน หลังจากนั้นจะปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ผัก ข้าวโพดหวาน จะไม่มีการเผาแปลงเด็ดขาดแต่ใช้วิธีไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยในดิน การปลูกข้าวโพดสามารถสร้างรายได้พออยู่พอกินและทำให้สามารถส่งลูกเรียนจนจบการศึกษามีอาชีพที่มั่นคง

cp-animal-feed-corn-check-back-rights-no-burn-SPACEBAR-Photo05.jpg

ด้าน ศศิธร เครือดวงคำ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด อ.แม่ทะ จังหวัดลำปาง บอกว่า ตนเองและเพื่อนเกษตรกรได้จัดตั้งกลุ่มและลงทะเบียนในระบบตรวจสอบย้อนกลับ มีซีพีส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูพื้นที่ปลูก ช่วยดูค่าสารอาหารในดินเพื่อปรับปรุงดิน พร้อมให้ความรู้เรื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่วิธีการหยอดข้าวโพด จนถึงวิธีการเก็บเกี่ยวที่ต้องได้อายุครบ 120 วัน ที่สำคัญคือการแนะนำไม่ให้มีการเผาแปลง แต่ต้องใช้วิธีการไถกลบถึงจะขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับซีพีได้ และสอนเรื่องการทำปุ๋ย การอัดฟางเพื่อใช้เป็นอาหารวัวและควาย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความสนใจ เพราะขายข้าวโพดให้ซีพีได้ราคาดีกว่าที่อื่น ตอนนี้จึงไม่ได้เผาแปลงข้าวโพดแล้ว เพราะหากมีการเผาเกิดขึ้นซีพีจะรู้ทันทีเพราะมีระบบแจ้งเตือน

หากวันนี้ยังมีเพียงเอกชนน้อยรายที่ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ที่มาจากการเผาพื้นที่เกษตรในภาคเหนือได้ ทางออกคือรัฐต้องมีกฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อหยุดการเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์