กางเกงช้าง! ชนวนคิด ปกป้องลิขสิทธิ์สินค้าไทย

15 ก.พ. 2567 - 01:59

  • ‘กางเกงช้าง’ ส่วนหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลไทยกำลังผลักดัน

  • แต่ในขณะโปรโมท กลับมีกางเกงช้างนำเข้า ถาโถมตีตลาดสินค้าไทย

  • ชวนรู้ ‘ลิขสิทธิ์’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่รัฐต้องเร่งส่งเสริมการจดแจ้งลิขสิทธิ์ มากขึ้น

creative-economy-elephant-pants-copyright-notice-soft-power-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นข่าวค่อนข้างน่ากังวล สำหรับสินค้านำเข้า ‘กางเกงช้าง’ ที่มีโอกาสทางการตลาดมากกว่าสินค้าไทย หลังมีราคาถูกกว่า ปริมาณมากกว่า และดูเหมือนจะขายดีกว่าสินค้าไทย นี่จึงเป็นการบ้านชิ้นสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งรื้อกลไกการค้าการลงทุน เพราะดราม่า ‘กางเกงช้าง’ ก็ยังจะถูกถามถึง เชื่อมโยง Soft Power ไทย ที่ขณะนี้รัฐเองก็เร่งขับเคลื่อน ผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่รูปธรรมอย่าง ‘กางเกงช้าง’ ก็โดนทุ่มตลาดไปเสียแล้ว ประเด็นนี้ แม้ผู้ประกอบการไทยบางเจ้าตอกย้ำ ว่า สินค้ามีความต่าง ขึ้นกับลูกค้าจะเลือกซื้อแบบไหน เพราะสินค้าไทยจะเป็นสินค้าคุณภาพ แข็งแรงทนทานราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่ตรงกันข้ามกับกางเกงช้างนำเข้า ทุกด้าน 

เรื่องนี้ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ให้ข้อมูล เรื่อง ‘ลิขสิทธิ์ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ว่า ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่การมีประเด็น ‘กางเกงช้าง’ เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถคุ้มครองโดย ‘กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา’ ได้

กางเกงช้าง เป็นลวดลายศิลปะ เป็นเอกลักษณ์ไทย ที่มีความเป็น ‘ลิขสิทธิ์ในตัวเอง’ อยู่แล้ว โดยแม้ไม่ได้ไปยื่นจดแจ้งก็เป็นลิขสิทธิ์ไทย แต่การที่กระทรวงพาณิชย์ ไปยื่นจดแจ้งถือเป็นเรื่องดี ที่จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า ไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นี้ ส่วนถ้าจะให้ดีกว่านี้ กระทรวงพาณิชย์ ควรที่จะต้องทำงานในเชิงรุก ส่งเสริมให้มีการจดแจ้งลิขสิทธิ์นี้มากขึ้น โดยต้องทำทั้งการส่งเสริมให้ความรู้ สนับสนุน อำนวยความสะดวก ให้คนอื่นๆ ที่ดำเนินการในเรื่องของศิลปะลายไทยบนกางเกง ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายจังหวัดที่ทำในเรื่องนี้ โดยไม่เฉพาะกางเกงช้างของเชียงใหม่ แต่ยังมีกางเกงแมว นครราชสีมา กางเกงลิง ลพบุรี กางเกงหอย ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

“ก็ควรรีบส่งเสริม อำนวยความสะดวก ให้เขามีความเข้าใจว่า ถ้ามาจดลิขสิทธิ์แล้วเนี่ยะ ก็จะเป็นที่ชัดเจน ตั้งต้นได้ว่า มีลิขสิทธิ์แล้วถ้าใครมาทำลอกเลียนแบบก็จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็ควรที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุน ให้ความรู้ และก็อำนวยความสะดวกในการจะทะเบียน ทั้งที่กระทรวงเอง ที่พาณิชย์จังหวัด หรือแม้กระทั่ง การจดแจ้งออนไลน์ ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องของการจดแจ้ง ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียน ที่จะต้องได้รับการอนุมัติ อย่างเช่น เครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตร อันนั้นต้องจดทะเบียน จะต่างกับคำว่าจดแจ้ง จดแจ้งก็คือ แค่แจ้งไว้เฉยๆ ว่ามีลิขสิทธิ์ตัวนี้ไว้ เพื่อเป็นหลักฐานชัดเจน เป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นว่า ได้มีลิขสิทธิ์ตัวนี้แล้ว แต่ถ้าเป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ก็จะต้องมีการอนุมัติอีกชั้นหนึ่ง”

ดร.สถิตย์ กล่าว

ดร.สถิตย์ ยังให้มุมมอง Soft Power ในแง่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่า มี 2 เรื่องประกอบกัน โดยเรื่องแรก คือ ความคิดสร้างสรรค์ และออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่นกางเกงลวดลายต่างๆ และเรื่องที่ 2 ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ การคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ที่เรียกว่า การคุ้มครองด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งลิขสิทธิ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และก็ส่วนนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ก็จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ส่งผลถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากจุดนี้ หรือกล่าวได้ว่า หากมีใครมาใช้ก็จะต้องไปเสียค่าลิขสิทธิ์ เสียค่าเครื่องหมายการค้า เสียค่าสิทธิบัตร ขณะเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์นี้ เมื่อใช้เองก็เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจในตัวเองด้วยเช่นกัน

ดร.สถิตย์ ยังตอกย้ำ ความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่นำมาขับเคลื่อนกับซอฟต์พาวเวอร์ ว่า เป็นการนำ ‘ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย’ ที่มีอยู่ สะท้อนออกมาในบริบทของสังคมสมัยใหม่ เพราะว่า ความคิดสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าเราเริ่มต้นจากภูมิปัญญา วัฒนธรรม ก็ต้องทำให้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมนั้น ออกมาเป็นรูปแบบที่ทันสมัย สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิด และความต้องการเสพของคนในยุคปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ถ้านำเรื่องเก่ามาเล่าแบบเก่า จะไม่มีทางเป็นไปได้ จึงต้องนำเรื่องเก่ามาเล่าแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ที่นำวัฒนธรรมประเพณี มาตอบรับกับโลกสมัยใหม่ และก็ทำให้การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นต้องมีความรู้สึกว่า มีรากฐาน มีทั้งความทันสมัย เป็นอดีตที่มาพบกับอนาคต และก็กลายเป็นโลกปัจจุบันที่ทุกคนหลงใหล ไทยเราก็เช่นกัน 

ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่เรื่องของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่เรื่องของการบอกว่า ไทยมีตรงนั้นตรงนี้ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่เป็นเรื่องของการบอกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ในภาพรวม ‘ความเป็นไทยน่าหลงใหล น่าชื่นชม น่าติดตาม’ คืออะไรบ้าง? สำคัญที่สุดก็คือ การทำให้สิ่งเหล่านั้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมา เชื่อมเข้าไปสู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ใช่ตกอยู่ในหลุมพรางของผลิตภัณฑ์

“ยกตัวอย่าง ‘อาหารไทย’ มีทุกภาคทุกจังหวัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้อาหารไทยในแต่ละภาคแต่ละจังหวัด มีความอร่อย ประณีตบรรจง อยู่บนจานที่สวยงาม และอาหารไทยต้องไม่มีรสชาติเดียว แต่ต้องมีลักษณะเฉพาะในแต่ละภาค เพราะความเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทั้งประเทศ นั่นเอง”

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เผยผ่านรายการ CEO VISION PLUS FM 69.5 MHz

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์