DE - กสทช. ทำทันที แจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง

5 ต.ค. 2566 - 11:26

  • DE ร่วมกับ กสทช. เร่งดันการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง เพื่อคนไทยทั้งประเทศ ใช้เทคโนโลยี cell broadcast

  • ชี้ข้อดี cell broadcast ส่งข้อความได้ถึงล้านเลขหมาย แต่ขณะนี้ยังต้องใช้เวลาพัฒนา

de-nbtc-cell-broadcast-emergency-alerts-SPACEBAR-Hero.jpg

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เผยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน แสดงความเป็นห่วง การแจ้งเตือนภัย (Emergency Alert) โดยชี้ กรณีมีเหตุร้ายหรือภัยพิบัติ ต้องแจ้งเตือนทันที แต่ขณะนี้ยังถือว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ซึ่งหน่วยงานรัฐก็ต้องสามารถแจ้งเตือนได้ ‘แบบเจาะจง-ทันเวลา’ เพื่อป้องกันภัยและลดความเสียหาย จึงมอบหมายให้ กระทรวงดีอี ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

สำหรับเหตุการณ์ร้ายในห้างพารากอน เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 ได้รับข้อมูลว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการแจ้งเตือน โดยใช้ วิธีส่ง SMS ถึงผู้เข้าอยู่ในพื้นที่สยามพารากอนบางคนว่า “ขณะนี้เหตุการณ์ฉุกเฉินให้อพยพออกจากพื้นที่พารากอน” ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนโดยเจ้าของพื้นที่ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าข้อความอาจไม่ทั่วถึง และไม่พบว่ามีการแจ้งเตือนจากภาครัฐแบบเจาะจงสำหรับคนในพื้นที่

จากข้อกังวลและการสั่งการ ส่วนตัวเร่งทำงานทันทีตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 3 ตุลาคม 66 พร้อมสรุปงานจบในวันที่ 4 ตุลาคม ร่วมกับสำนักงาน กสทช. เบื้องต้น ได้ข้อสรุปแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ดังนี้

- ระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือน : ใช้ระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อย่างไม่ครอบคลุม ใช้ระบบ อย่างไม่บูรณาการ ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

- ระยะปานกลางโดยเร็ว : ใช้ระบบ Cell Broadcast เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า SMS โดยจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที และมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ เป็นต้น ซึ่ง cell broadcast ดีอี สรุป ทางเทคนิค จบแล้ว กับ กสทช. และผู้ให้บริการ พร้อมดำเนินการจะเร่งขยายใช้วงกว้างโดยเร็ว

ทำความรู้จัก ระบบ Cell Broadcast

Cell Broadcast คือระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมือสื่อสาร ในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ซึ่งจะทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่ และ Cell Broadcast ไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ ทำให้รวดเร็วกว่าการส่ง SMS มาก นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast สามารถทำงานได้โดย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น 

ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนภัย เดิมแบบ SMS จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบ Cell Broadcast มาก โดยระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15 -20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาในการส่งข้อความอีกประมาณ 1 – 20 นาทีในการส่งให้ครบ กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่เป้าหมาย 

ขณะที่ ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การหารือกับ ดีอี และผู้ให้บริการโทรคมนาคมครั้งนี้ ทำให้เกิดกลไกและการทำงานดังนี้   

1. ทำ command center เพื่อให้ operators รู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ข้อความใด ส่งอย่างไร ซึ่ง สำนักงาน กสทช. จะออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 

2. Update software ที่กระจายส่งสัญญาณ ให้ใช้ cell broadcast ได้ 

ทั้งนี้ การให้บริการแจ้งเตือนด้วยระบบ cell broadcast จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ พร้อม software สำหรับ cell broadcast ทาง สำนักงาน กสทช ประสาน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเร่งดำเนินการ ให้เสร็จพร้อมใช้ทั้งประเทศโดยเร็ว สำหรับที่มาของ งบประมาณ จะใช้เงินจากกองทุน USO

“นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยมากเรื่องเหตุการณ์ร้าย ได้สั่งการให้ ดีอี ประสาน กสทช. และผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เรื่อง ระบบการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถ ติดต่อสื่อสาร ได้แบบเจาะจง รายบุคคล เพื่อลดผลกระทบ ความสูญเสีญ ต่อประชาชน และ ผมมั่นใจว่า เรื่องการแจ้งเตือนแบบเจาะจงนี้ จะสำเร็จโดยเร็ว และพร้อมใช้งาน เพื่อลดผลร้ายให้ประชาชนทั้งประเทศ ครับ”

รัฐมนตรี ดีอี กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์