เงินดิจิทัล 1 หมื่น เริ่มที่ Block chain จบที่ เป๋าตัง

6 กันยายน 2566 - 10:45

Digital-money-Block-chain-wallet-10000-baht-e-Money-SPACEBAR-Hero
  • จับตาเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ยาแรงปลุกคนไทย ลุกขึ้นมาใช้จ่าย

  • จุดคิดวิธีใช้ เข้าระบบ Block chain ยากไปไหม? คาดสุดท้ายใช้ เป๋าตัง

ถ้าดูจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เตรียมแถลงต่อรัฐสภา ในวันจันทร์ที่ 11 กันยายนนี้ ดูเหมือนจะมีความเชื่ออย่างที่ พรรคเพื่อไทย คิดมาโดยตลอดว่า เศรษฐกิจไทย ในยุคของ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นมีการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพเกินไป และจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่  

เพราะเหตุนี้ ในคำแถลงนโยบายจึง เปรียบเทียบประเทศไทย เสมือนคนป่วย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น และฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง 

นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวนถึง 56 ล้านคนจึงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ที่จะทำหน้าที่จุดชนวนที่กระตุกเศรษฐกิจไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยการใส่เม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 5.6 แสนล้านบาท  

ตั้งแต่ในช่วงออกแคมเปญหาเสียง จนมาถึงนาทีนี้ ที่พรรคเพื่อไทย ได้เข้ามาเป็นแกนหลักในการบริหารประเทศ คำถามสำคัญๆที่คนไทย ตั้งแต่รากหญ้า ไปจนถึง ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ และ นักวิชาการ ยังต้องการคำตอบชัดๆก็คือ รัฐบาลชุดนี้จะสามารถทำได้อย่างที่แถลงไว้จริงหรือ? 

ปริศนาสำคัญที่ ต้องหาคำตอบในเรื่องนี้ ที่ทีมงานด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยต้องไขคำตอบให้ได้ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ 

เรื่องแรก คือ เรื่องของกฎหมาย เพราะเงินดิจิทัล ที่จะถูกนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนแทนเงินบาท มันมีสภาพอะไรกันแน่ จากจุดเริ่มต้น ที่ดูเหมือนจะเป็น Digital Coin เงินดิจิทัล ที่จะใช้ระบบ Block Chain ก็ค่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ มาเป็น Utility Token  

แต่จุดตายก็คือ ไม่ว่ามันจะถูกเรียกว่าอะไร แต่ถ้าหากไอ้เจ้าเงินนี้ทำหน้าที่ใช้แทนเงินบาท ในการนำไปซื้อสินค้าและบริการ มันก็ทำหน้าที่เหมือนเงินอีกสกุลหนึ่ง คือเป็นสื่อกลางในการชำระราคา (Mean of payment) ที่อยู่ภายใต้กำกับของ พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลในเรื่องนี้  

ที่สำคัญคือ มันจำเป็นต้องมีทุนสำรอง ที่เป็นเงินบาทมาหนุนหลังไอ้เจ้าเงินดิจิทัลนี้ ในมูลค่าเท่ากัน คือ 5.6 แสนล้านบาทเพื่อให้ เจ้าเหรียญดิจิทัลนี้มีเสถียรภาพ และคนกล้านำไปใช้แลกเปลี่ยน สินค้าและบริการ ไม่ใช่จู่ๆก็อุปโลกน์ว่ามันมีค่าเท่ากับเงินบาทขึ้นมาง่ายๆ เหมือนเสกเงินในอากาศขึ้นมาแบบนั้น  

เรื่องต่อมา คือ เรื่องเทคนิค ในการออกแบบไอ้เจ้าเงินดิจิทัลตัวนี้ ที่ระบุตอนแรกว่าจะเขียนในรูปแบบบล็อกเชน เพื่อความโปร่งใส และกำหนดเงื่อนไขในการใช้ได้ เช่นการกำหนดรัศมีการใช้ไม่เกิน 4 กม.จากที่อยู่ในบัตรประชาชน หรือ ประเภทสินค้าและบริการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกับมาเป็นเงินบาท ได้เฉพาะผู้ลงทะเบียนร้านค้า ที่อยู่ระบบภาษี  

แต่บรรดาผู้คนในวงการไอที คริปโท และฟินเทค ต่างๆ ล้วนลงความเห็นคล้ายคลึงกันว่า มันไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมาใช้แต่อย่างใด เพราะยุ่งยากเกินความจำเป็น และ เทคโนโลยีบล็อกเชน ก็อาจจะไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ ในการออกเป็น Utility Token ที่จะมีปริมาณธุรกรรมมหาศาล ในรายวินาทีที่จะเกิดขึ้นจากการซื้อขายของคนกว่า 56 ล้านคน  

เรื่องสุดท้าย คือปริมาณเม็ดเงินที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท รัฐบาลจะเอามาจากไหน เพราะในการชี้แจงที่ผ่านๆมา ดูจะสับสนเป็นอย่างมาก เช่นอ้างว่า จะนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในปีหน้าราว 2 แสนล้านบาท มาใช้ส่วนหนึ่ง ทั้งๆที่ งบประมาณในปี 2567 ได้ประมาณการเอาไว้แล้ว การปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง ถึงจะตัดงบกันแบบสุดก็คงได้ไม่กี่แสนล้านบาท หรือจะ เพิ่มการขาดดุลงบประมาณไปอีก ก็ได้เพียงราว 5 หมื่นล้านบาท  

เมื่อพิจารณาแล้ว คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกู้เพิ่ม แต่จะทำด้วยวิธีการอย่างไร เป็นเรื่องที่ทีมงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลคงต้องหาแนวทางให้ได้โดยเร็ว เพราะนายกฯ เศรษฐา ได้ประกาศด้วยวาจาไปแล้วว่าจะหว่านเม็ดเงินนี้ให้ทันต้นปีหน้าราวเดือนกุมภาพันธ์ 

ทั้ง 3 ปัญหา เป็นปัญหาใหญ่ที่หากยังคงดื้อด้านต่อไป มาตรการประชานิยมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชนในครั้งนี้คงพังไม่เป็นท่า จึงไม่น่าแปลกใจที่เริ่มมีกระแสข่าว เรื่องการปรับแผนใหม่ โดยมีการหารือกับผู้บริหารของธนาคารกรุงไทย ที่จะนำแอปพลิเคชัน เป๋าตัง มาใช้ ในรูป e-Money เพื่อตัด 2 ปัญหาแรก คือ เรื่องกฎหมาย และ เทคโนโลยี บล็อกเชน ออกไป  

เมื่อทำแบบนี้ก็จะเหลือปัญหาเดียว คือ เรื่องเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท จะเอามาจากไหน ซึ่งมีกระแสข่าวว่ากำลังดูความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการกึ่งการคลัง โดยยืมเงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารของรัฐมาก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบชดเชยในภายหลัง คล้ายกับ กรณีการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยืมเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธกส. มาใช้ในการรับจำนำไปก่อน แต่ในท้ายที่สุดก็มีปัญหา เมื่อไม่สามารถขายข้าว เพื่อนำเงินกลับมาใช้คืนได้ 

มีบางกระแสเปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยเองก็ชำเลืองไปมองถึงความเป็นไปได้ในการที่จะนำเงินทุนสำรองมาใช้บางส่วน แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคงต้องเผชิญแรงต้านอย่างหนักจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการ ที่กังวลเรื่องวินัยการเงินการคลัง 

หากไม่สามารถทำได้ทั้ง 2 ทางเลือกสุดท้าย ที่เป็นภาคบังคับ ก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องออกเป็น พ.ร.ก. เงินกู้ เป็นกรณีพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ก็ต้องไปตอบคำถามกันในรัฐสภา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์