โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา หรืออุโมงค์ลอดทะเลสาบ บริเวณท่าแพขนานยนต์สงขลา เพื่อเชื่อมต่ออำเภอเมืองสงขลากับอำเภอสิงหนคร กำลังได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม หลังได้ริเริ่มโครงการในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
วีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า การดำเนินงานผลการสำรวจพื้นที่และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยคณะทำงานได้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบในด้านต่างๆ เช่น ปริมาณจราจรที่หนาแน่น และความจำเป็นในการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสองพื้นที่

“กำลังสำรวจผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง และในที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการขออนุญาตยกเว้นจากมติคณะรัฐมนตรี ปี 2532 ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมบางข้อ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างสะพาน โดยคณะกรรมการจะดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องยื่นคำร้องขอการยกเว้นจากระเบียบหรือข้อบังคับบางประการที่อาจจะเป็นอุปสรรค”

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้เสนอให้พิจารณาการสร้างสะพานในรูปแบบ ‘สะพานเปิดปิด’ ซึ่งจะรองรับการข้ามผ่านของเรือและยังสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดในพื้นที่ได้สะดวก โดยสะพานประเภทนี้ได้ถูกใช้งานในหลายประเทศ และสามารถตอบโจทย์การจราจรในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าโครงการนี้จะใช้งบประมาณประมาณ 500 ล้านบาท โดยเบื้องเตรียมเสนองบประมาณ 9 ล้านบาทเพื่อจัดทำแผนการศึกษาความเป็นไปได้และรับฟังความคิดเห็นให้เสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2569 นี้
ขณะเดียวกัน เจือ ราชสีห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับข้อกังวล ของ ผอ.เจ้าท่า จ.สงขลา ที่แจ้งที่ประชุม ว่า บริเวณดังกล่าว คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุรักษ์เมืองเก่าสงขลา ได้นำเรื่องนี้เทียบเคียงกับมติคณะรัฐมนตรี 2532 ที่ห้ามมีการก่อสร้างโครงการ intensive หรือ สิ่งปลูกสร้างใดๆ ตั้งแต่ท่าเทียบเรือข้ามฝากถึงแหลมสนนั้น ในที่ประชุมได้แจ้งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจะเป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุรักษ์ฯ และจะส่งต่อคณะกรรมการอนุรักษ์ชุดใหญ่พิจารณาเสนอต่อกระทรวงทรัพยากร ฯ ซึ่งจากการนำเสนอโครงการมา คณะกรรมการอนุรักษ์ชุดใหญ่ จะอนุมัติตามมติจังหวัดสงขลา เพื่อข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ปี 2532 ต่อไป

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการก่อสร้างโครงการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ท่าเรือน้ำลึกสงขลา เขื่อนกั้นตะกอนทราย และท่าเรือของเอกชน ที่สามารถทำการก่อสร้างได้ เช่นเดียวกับสะพานฯ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน รวมทั้งยังเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาอย่างยั่งยืน”
“จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ รวมถึงการตรวจสอบทุกมิติทั้งด้านเทคนิคและการศึกษาผลกระทบ(EIA) ที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้งานได้ภายในปี 2572 หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้”

ทศ ฤทธิรงค์ ภาคประชาชนในพื้นที่ แสดงความเห็นว่า การมีโครงการสะพานหรืออุโมงค์ ข้ามทะเลสาบสงขลาในพื้นที่นี้นั้น จะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมาก ทั้งการร่นระยะเวลาในการเดินทาง ลดระยะเวลาการรอคอย และยังสามารถเดินทางไปตลอด 24 ชั่วโมงตามความจำเป็นได้อีกด้วย
“ปกตินั้นหากจะข้ามแพขนานยนต์ ก็จะปิดการให้บริการถึง 22.00 น.เท่านั้น แต่หากเดินทางตามถนนสายหลัก ผ่านสะพานติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อเข้าไปยังอำเภอเมืองสงขลา ก็ต้องใช้ระยะทางเพิ่มอีกประมาณ 17 กิโลเมตร ดังนั้นการมีสะพานหรือ อุโมงค์ ข้ามทะเลสาบสงขลา จึงเป็นเรื่องที่ดีสำหรับประชาชนอย่างแน่นอน และยังจะมีผลพวงในเรื่องของแลนด์มาร์คแห่งใหม่ทางการท่องเที่ยวด้วย”
สำหรับการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบหรืออุโมงค์ลอดทะเลสาบสงขลา แม้หลายฝ่ายจะยืนยันว่า มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางให้มีความสะดวกสบายและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลาให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ยังต้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ Feasibility Study ในความเหมาะสมด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โดยจังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานและสอบถามความต้องการของประชาชน พบว่า มีมากกว่า 40,000 รายชื่อที่เห็นด้วย และต้องการให้มีเส้นทางเชื่อมทะเลสาบสงขลา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการข้ามฟากทะเลสาบสงขลา ซึ่งเดิมนั้นต้องใช้บริการแพขนานยนต์ข้ามฟาก ที่ให้บริการโดย อบจ.สงขลา ที่บางครั้งประสบปัญหาความล่าช้า แพเสียกะทันหัน ทำให้ต้องรอคิวเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการสัญจร จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างสะพานหรืออุโมงค์ลอดทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ปัญหาเส้นทางระหว่างอำเภอสิงหนครไปยังอำเภอเมืองสงขลา และจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ทางการท่องเที่ยวด้วย
