แม้แผ่นดินไหว เมื่อ 28 มีนาคม 2568 จะเกิดจาก ‘รอยเลื่อนสะกาย’ เป็นรอยเลื่อนมีพลังขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 1,200–1,500 กิโลเมตร ทอดตัวในแนวเหนือ–ใต้ ผ่านใจกลางประเทศเมียนมา รอยเลื่อนนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต เช่น ในปี พ.ศ. 2473 ที่มีขนาด 7.3 แมกนิจูด และมีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน
มาครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยขนาด 8.2 แมกนิจูด (ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา) หรือ 7.7 แมกนิจูด (ตามรายงานของ USGS) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร ไม่เพียงเขย่าขวัญคนไทยเท่านั้น แต่ยังเขย่าเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวไปแล้วระดับหนึ่ง พร้อมกับเป็นจุดเริ่มต้น สร้างการปรับตัวในประเทศไทย
แผ่นดินไหวในไทย แนวโน้มนับจากนี้
ประเด็นการเกิดแผ่นดินไหวที่แม้ในอดีตจะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศ แต่นักธรณีวิทยาได้ชี้แนวโน้มนับจากปี 2568 เป็นต้นไปว่า ในด้าน ‘จำนวนครั้ง’ อาจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง เนื่องจากไทยเรามีเครื่องมือตรวจวัดที่ดีขึ้น จึงมีการตรวจพบมากขึ้น ขณะที่ ‘แผ่นดินไหวขนาดใหญ่’ แรงสั่นสะเทือนระดับรุนแรง จะยังคงเกิดขึ้น ‘ไม่บ่อย’ และมีโอกาสเกิดขึ้นในบางพื้นที่เฉพาะเท่านั้น ซึ่งยังเป็นเรื่อง ต้องระวังจุดเสี่ยงใกล้รอยเลื่อนมีพลัง โดยพื้นที่เสี่ยงจะอยู่ในภาคเหนือ, ตะวันตก และภาคใต้ฝั่งอันดามัน เช่น จ.แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี กระบี่ พังงา... แง่การเกิด ‘สึนามิ’ กล่าวได้ว่า โอกาสเกิดต่ำมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากทะเลดันดามัน ถ้าเกิดจากรอยเลื่อนใต้ทะเลขึ้น
แผ่นดินไหวกระบี่ มีโอกาสรุนแรงไหม?
นักวิชาการชี้ แผ่นดินไหวที่ จ.กระบี่ มาจากอิทธิพลของรอยเลื่อน ‘ระนอง-คลองมะรุ่ย’ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนหลับใหล (ไม่มีร่องรอยของการเคลื่อนตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา) เหตุที่เกิดขึ้นมีจุดศูนย์กลางที่ ต.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ด้วยขนาด 3.5 แมกนิจูด ลึกลงไป 2 กิโลเมตร ทำเอาประชาชนและนักท่องเที่ยวรู้สึกได้ถึงแรงสั่นไหว ซ้ำความเชื่อมั่นท่องเที่ยวไทยไปอีกนิด
ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดกระบี่ เกิดจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ‘คลองมะรุ่ย’ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนมีพลังในภาคใต้ของประเทศไทย มีแนวพาดยาวจากจังหวัดระนองขึ้นไปทางเหนือ ถึงอำเภอกะปง จังหวัดพังงา จัดเป็นรอยเลื่อนหลักในภาคใต้ฝั่งอันดามัน พาดผ่านพื้นที่ระนองพังงา เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย โดยอิทธิพลของรอยเลื่อนนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ยังไม่เคยมีประวัติในการสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างเด่นชัด จากรอยเลื่อนนี้

ข้อมูลอีกด้านยังชี้ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ยังไม่จัดเป็นรอยเลื่อนมีพลัง เป็นเพียงแค่ มีโอกาสเสี่ยงในระดับหนึ่ง เนื่องจากโครงสร้างทางธรณีวิทยา บ่งชี้ว่า รอยเลื่อนนี้เคยเคลื่อนตัวมาแล้วในอดีตยุคโบราณ เป็นรอยเลื่อนแบบปกติ (Normal Fault) ที่วางตัวในแนวเกือบขนานกับชายฝั่งอันดามัน ซึ่งถ้ามีการเคลื่อนตัวขึ้นจริง อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในทะเล และเสี่ยง สึนามิขนาดเล็กถึงปานกลางได้นั่นเอง
ย้อนดู ‘รอยเลื่อน’ ทั่วไทย
แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะ ‘ไม่เคย’ เกิดแผ่นดินไหว เมื่อมาเกิดขึ้น ณ วันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง หลังจากเหตุการณ์หลัก ยังมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ณ วันที่ 29 มีนาคม 2568 มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นทั้งหมด 77 ครั้ง ต่อเนื่องถึงช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 ทำให้มีคำถามอีกว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยแนวโน้มจะเป็นอย่างไร อาจต้องย้อนดู ‘รอยเลื่อน’ ในประเทศไทย ว่ามีที่ไหน? อย่างไรบ้าง
เรื่องนี้ กรมทรัพยากรธรณี (Department of Mineral Resources) เคยทำการศึกษา และเผยข้อมูลว่า ไทยมี 16 รอยเลื่อนมีพลังหลัก ที่ต้องจับตามอง โดยสามารถแบ่งได้ตามภูมิภาค ดังนี้:

ภาคเหนือ
- รอยเลื่อนแม่จัน (เชียงราย - พะเยา)
- รอยเลื่อนแม่อิง (เชียงราย - พะเยา)
- รอยเลื่อนแม่ทา (เชียงใหม่ - ลำพูน)
- รอยเลื่อนเถิน (ลำปาง - ตาก)
- รอยเลื่อนพะเยา (พะเยา)
- รอยเลื่อนปัว (น่าน)
- รอยเลื่อนสบปราบ (ลำปาง)
ภาคตะวันตก
- รอยเลื่อนเมย (ตาก - แม่ฮ่องสอน)
- รอยเลื่อนแม่ระมาด (ตาก)
- รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี)
- รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ (กาญจนบุรี)
ภาคกลางและตะวันออก
- รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์)
- รอยเลื่อนคลองมะรุม (นครสวรรค์ - ชัยนาท)
ภาคใต้
- รอยเลื่อนระนอง (ระนอง - พังงา)
- รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (ภูเก็ต - พังงา)
- รอยเลื่อนสุราษฎร์ธานี (สุราษฎร์ธานี)
เฝ้าระวัง 5 รอยเลื่อน แนวโน้มอันตราย
สำหรับ “รอยเลื่อนที่มีแนวโน้มอันตรายที่สุดในประเทศไทย” นักธรณีวิทยาและกรมทรัพยากรธรณีจะพิจารณาจาก ประวัติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต, ระดับพลังงานสะสม, และจำนวนประชากรที่อยู่ใกล้พื้นที่รอยเลื่อน แล้วจะพบว่ารอยเลื่อนที่ถูกจับตาเป็นพิเศษมีดังนี้
รอยเลื่อนแม่จัน (เชียงราย - พะเยา) : ซึ่งถือว่า อันตรายที่สุดในไทย โดยรอยเลื่อนนี้ ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.1 แมกนิจูด ที่เชียงรายในปี 2557 (จุดศูนย์กลางใกล้อำเภอแม่ลาว) แนวของรอยเลื่อนพาดผ่านเขตที่อยู่อาศัย มีประชากรหนาแน่น และมีศักยภาพทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5–7.0 ได้
รอยเลื่อนเมย (แม่ฮ่องสอน - ตาก) : จัดเป็นรอยเลื่อนที่ พาดผ่านภูเขาแนวยาว และอยู่ใกล้ชายแดนเมียนมา ซึ่งแม้จะยังไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในไทยโดยตรง แต่ฝั่งเมียนมาเคยมีแรงสั่นสะเทือนมาก มีลักษณะเป็นแนวรอยเลื่อนยาวและมีพลังสะสม
รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ (กาญจนบุรี) : จุดของรอยเลื่อน อยู่ใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว ณ จุดนี้ นักธรณีฯ กังวลว่าอาจเกิด ‘แผ่นดินไหวในเขื่อน’ ได้ หากรอยเลื่อนเคลื่อนตัว ทั้งนี้ เคยมีแรงสั่นสะเทือนขนาด 4–5 แมกนิจูด หลายครั้งแล้ว
รอยเลื่อนแม่ทา (เชียงใหม่ - ลำพูน) : เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นและสิ่งก่อสร้างมาก ข้อมูลชี้ แม้ไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ แต่เป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังตลอดเวลา
รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (พังงา - ภูเก็ต) : จัดเป็นรอยเลื่อนใกล้ทะเลอันดามัน อาจเกี่ยวข้องกับแรงสั่นสะเทือนใต้ทะเลเกี่ยวข้องกับ แผ่นดินไหวและสึนามิ ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเกิด ‘สึนามิ’ ครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อปี 2547 โดยเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9.1–9.3 แมกนิจูด แม้ศูนย์กลางจะอยู่ชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็สร้างผลกระทบประเทศไทยมหาศาล เนื่องจากเป็น รอยเลื่อนแบบย้อน (Thrust Fault) ซึ่งเปลือกโลกใต้ทะเลยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำทะเลเคลื่อนตัวกลายเป็น คลื่นยักษ์ (สึนามิ) ถือเป็นหนึ่งในสึนามิที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 230,000 คนส่งผลกระทบถึงหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดีย เช่น อินโดนีเซีย, ศรีลังกา, อินเดีย, มัลดีฟส์ และประเทศไทย โดยมีความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท
ว่ากันว่า การสร้างเขื่อน การขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซ การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำใต้ดิน เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเพิ่มแรงกดดันในเปลือกโลกบางจุด ส่งผลให้เกิด ‘แผ่นดินไหว’ ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก จากแรงดันและพลังงานสะสมที่ใช้เวลานานนับร้อยนับพันปี เมื่อพลังงานถึงจุดหนึ่ง มันจะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปแบบของ แผ่นดินไหว นี่จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดแผ่นดินไหวได้ แต่ก็สามารถอยู่กับแผ่นดินไหวได้อย่างปลอดภัย ดังนี้
1. ออกแบบและก่อสร้างอาคารให้ต้านแผ่นดินไหวได้ โดยใช้โครงสร้างต้านแรงสั่นสะเทือน (Seismic Design) โดยเฉพาะบ้าน-อาคารในพื้นที่เสี่ยงควรมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น ไม่แข็งหรือเปราะจนเกินไป
2. ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า เช่น เซนเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือน, ระบบเตือนภัยสึนามิ โดยขณะนี้จะพบว่า หลายประเทศมีระบบที่สามารถเตือนล่วงหน้าก่อนคลื่นไหวสะเทือนจะมาถึงแล้ว
3. สร้างความรู้ให้ประชาชน สอนให้คนรู้วิธี หลบภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เช่น หมอบ-กำบัง-จับมั่น (Drop-Cover-Hold) และพยายามฝึกซ้อมอพยพหนีภัยในโรงเรียน, อาคารสูง, พื้นที่ชายฝั่ง
4. วางผังเมืองให้ห่างจากรอยเลื่อนมีพลัง บทเรียนแผ่นดินไหว ทำให้การมีการรับรู้ “ไม่ควรสร้างอาคารขนาดใหญ่ โรงงาน โรงเรียน หรือโรงพยาบาล บนแนวรอยเลื่อน” และเมื่อถึงเวลาต้องสร้าง ควรใช้ ‘แผนที่รอยเลื่อนมีพลัง’ ประกอบการวางผังเมืองด้วย

รอยเลื่อนประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง!
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะมี 16 รอยเลื่อนมีพลังหลัก ภายในประเทศ แต่ยังมี **‘รอยเลื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน’**ที่สามารถส่งผลกระทบต่อไทยได้ โดยเฉพาะในรูปแบบของแรงสั่นสะเทือน หรือคลื่นสึนามิ โดยยังมีรอยเลื่อนต่างประเทศ ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ
1. รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมียนมา เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พาดผ่านประเทศเมียนมาแนวเหนือ-ใต้ ใกล้ชายแดนไทย (แม่ฮ่องสอน–ตาก)
2. รอยเลื่อนอันดามัน (Andaman Subduction Zone) อินโดนีเซีย เป็นจุดบรรจบของแผ่นเปลือกโลกอินเดียและยูเรเซีย บริเวณนอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา แหล่งกำเนิด แผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาดใหญ่ และสึนามิ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2547 ส่งผลรุนแรงถึงชายฝั่งอันดามันของไทย (พังงา, ภูเก็ต, กระบี่ ฯลฯ)
3. รอยเลื่อนในลาวตอนใต้ และเวียดนามตอนกลาง โดยมีรอยเลื่อนระดับภูมิภาคหลายเส้น เช่น รอยเลื่อน Truong Son และ Song Ma อาจส่งผลต่อภาคอีสานของไทย เช่น อุบลราชธานี มุกดาหาร นครพนม หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง-ใหญ่ แม้ล่าสุด ยังไม่มีประวัติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในช่วงหลายสิบปี แต่ยังอยู่ในพื้นที่ที่ต้องศึกษาต่อไป
4. รอยเลื่อนในมณฑลยูนนาน และยูนนานตอนใต้ของจีน โดยมีข้อมูลชี้ว่า บางรอยเลื่อนมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง เช่น รอยเลื่อน Red River Fault อาจส่งอิทธิพลต่อแรงสั่นสะเทือนทางตอนบนของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ เป็นพื้นที่แอคทีฟมากในจีนตอนใต้
ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ประเทศไทย จะมีรอยเลื่อนทั้งที่ ‘มีพลัง’ และ ‘หลับใหล’ (สงบมานาน) แต่คำว่า รอยเลื่อน คือความไว้ใจไม่ได้ และนักธรณีวิทยาไทยต่างเฝ้าระวังมาตลอด เพราะอย่างเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็เขย่าเสียจนประเทศไทยมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เฉพาะในกรุงเทพมหานคร นักวิชาการประเมินความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 3,000–5,000 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย...แล้วแนวทางการป้องกันนับจากนี้ แม้จะยังคงเลือนราง แต่เชื่อได้ว่า หากหน่วยงานรัฐ-เอกชนจะสร้างตึกสูง มาตรฐาน ‘รองรับแผ่นดินไหว’ ต้องเข้าทุกตึกแล้ว!