จากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ นอกจากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่กำลังก่อสร้าง พังถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ และทำให้คอนโด อาคารสูง ในกรุงเทพมหานครหลายแห่งได้รับผลกระทบ ผนังแตกร้าว จนเกิดคำถามว่า คอนโดสูงในกรุงเทพฯ ยังน่าอยู่และเป็นทางเลือกอันดับแรกหรือไม่ แต่ในส่วนของจังหวัดขอนแก่น คอนโดสูงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
ชาญณรงค์ บุริสตระกูล ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทอีสานพิมานกรุ๊ป เจ้าของบ้านจัดสรรและคอนโด ประเมินแนวโน้ม ทิศทางธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ว่า ผลกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมคิดว่าคนน่าจะตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสักระยะหนึ่ง ถึงแม้จะมีรอยร้าวบ้างแต่อาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังมีมาตรฐาน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบางคนอาจจะตั้งคำถามว่าตัวเองอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน จะใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ตึกสูง หรืออาจจะอยู่ในเมืองใหญ่แต่ไม่อยากอยู่ในตึกสูงหันมาสนใจบ้านแทน ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้จังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯ ก็จะได้รับประโยชน์และเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยากซื้อบ้านหรือคอนโดที่ไม่สูงมาก
“แต่กับอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าเป็นกลุ่มที่อาจจะย้ายบ้านดีกว่า อาจจะเป็นคนที่มีอายุเยอะ เป็นอาชีพอิสระ ทำงานอยู่บ้านเวิร์กฟอร์มโฮมได้ หรือกำลังเลือกพอดีว่าจะไปตั้งถิ่นฐานที่ไหน คิดว่าภาคอีสานก็ตอบโจทย์ เพราะไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง ก็จะได้รับผลบวก คล้ายกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 คนย้ายถิ่นฐานมาอยู่ภาคอีสานเยอะขึ้น เหตุการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 คนก็ย้ายถิ่นฐานออกจากกรุงเทพฯ เยอะเช่นเดียวกัน”
“ขอนแก่นก็ถือเป็นจังหวัดศูนย์กลางมีความพร้อมตอบสนองความสะดวกสบาย มีที่เรียน ที่เที่ยว ที่รักษาพยาบาลที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ได้รับความสะดวกสบายไม่แพ้เมืองใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลบวกให้กับภาคธุรกิจหลายอย่าง แต่อาจจะไม่มากเท่าไหร่ เพราะช่วงนี้สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และเปราะบาง เพราะฉะนั้นการจะซื้อบ้านหลังใหม่ก็ไม่ง่าย หรือแม้แต่การขายบ้านหลังเก่าก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน แต่ในระยะยาวคนคงจะหาบ้านโดยเน้นความปลอดภัย สะดวก สบาย อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับเมืองรองมากขึ้น” ชาญณรงค์ กล่าว


ชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ถ้าถามว่าหากย้ายมาอีสานแล้ว อสังหาฯ ประเภทไหนที่จะตอบโจทย์มากที่สุด วิเคราะห์จากพฤติกรรมของคนที่จะซื้อบ้านหรือย้ายบ้าน หากมาทำงาน มาเป็นครั้งคราว มาศึกษาเล่าเรียน การอยู่หอพัก อาพาร์ทเมนท์ คอนโด จะตอบโจทย์กว่า แต่ถ้าหากอยากอยู่ยาวๆ คนก็ยังอยากได้บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ซึ่งเหมาะกับครอบครัว และบ้านที่ขยายออกจากยังชานเมือง และชนบทก็ยังเป็นที่นิยม เพราะการเดินทางปัจจุบันสะดวกไม่ไกลมาก
ชาญณรงค์ มองว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นภาวะให้คนตื่นตัวชั่วคราว แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องรายได้ที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ 104 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อยากให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ หันมาจับมือและช่วยกันแก้ปัญหา เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจเกิดการพัฒนาและมั่นคง จะเป็นผลดีกับประชาชนทุกคน และเป็นผลดีสำหรับคนที่อยากจะซื้อบ้านในภาคอีสานมากกว่า
“ถ้าถามว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น นักลงทุนจะเห็นโอกาส จะเกิดโครงการบ้านจัดสรรในพื้นที่อีสานมากน้อยแค่ไหน มองว่า ไม่น่าจะถึงขั้นนั้น เพราะมีปัจจัยกดดันคือเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ ส่วนการขายคอนโดเก่าเพื่อซื้อบ้านใหม่ก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ต้อง1เดือนถึง1ปี ถ้าขายถูกมากๆอาจจะมีคนอยากซื้อไปเก็งกำไรต่อ คิดว่าเมื่อประชาชนตั้งสติได้แล้ว การเทขายคอนโดสูง คงจะกลับเข้าสู่ภาวปกติ เชื่อว่าช่วงนี้ประชาชนเจ้าของคอนโดอาจจะแพนนิค และส่วนตัวเชื่อมั่นว่าวิศกรรมของไทยมีความเชื่อถือ ส่วนคอนโดใดพบรอยร้าวที่ไม่กระทบโครงสร้างก็ต้องซ่อม ไม่น่ากลัวมาก” ชาญณรงค์ กล่าว


ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบแน่นอนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ร้าว แม้ผลสำรวจจะมีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ประชาชนยังตกใจ เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบระยะสั้น โดยเฉพาะคนโดในกรุงเทพฯ ที่กำลังจะจอง หรือกำลังโอน
“เนื่องจากผู้ซื้อลังเลว่าคอนโดหรืออาคารสูงที่ตนเองจะซื้อมีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ การออกแบบหรือโครงสร้างเป็นไปตามข้อกำหนดที่ทำให้ลดแรงสะเทือนแผ่นดินไหวได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งความกังวลนี้เจ้าของโครงการต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าคอนโดที่จะขายให้ลูกค้ามีการก่อสร้างมั่นคงแข็งแรง สามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้”
“ถึงเวลานี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกบ้านมากกว่าคอนโด มองว่าอสังหาฯ แนวราบจะดีขึ้นแน่นอน เพราะคนกลัวเรื่องแผ่นดินไหว ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาเปิดเผยว่า ความจริงแล้วภาคอีสานมีรอยเลื่อนมีพลัง 12 รอยเลื่อน ที่กระจายตัวในภูมิภาคนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นข้อมูลด้านเดียวเป็นสิ่งที่รัฐบาลและคนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความมั่นใจ เพราะข้อมูลผลกระทบเรื่องภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม แผ่นดินไหว ต้องให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และต้องเป็นข้อมูลที่ออกมาจากแหล่งเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน”


ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% บ้านและคอนโดไม่เกิน 7 ล้าน ควบคู่มาตรการ LTV ไม่ต้องวางเงินดาวน์ กู้ได้100% ทุกหลัง ซึ่งจะมีผลถึง 30 มิถุนายน 2569 นั้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ผู้คนกำลังวิตกเรื่องการซื้อขายคอนโด ดร.ทวีสันต์ มองว่า “ถ้ามีการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งจากเจ้าของโครงการและหน่วยงานของรัฐที่มีการตรวจสอบชัดเจน ว่าการออกแบบและการก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานรองรับแผ่นดินไหว ก็จะเป็นโอกาสในการกระตุ้นอสังหาฯ มากขึ้นทั้งแนวสูงและแนวราบ”
ดร.ทวีสันต์ กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่า ประเทศไทยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับสหรัฐอเมริกามีมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 36 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเครื่องยนต์ของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากจะมากจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว อีกเครื่องยนต์สำคัญที่จะเกิดจีดีพีคือการส่งออก ซึ่งตลาดใหญ่ที่สุดตลาดหนึ่งของไทยคือสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีน
“เรื่องนี้รัฐบาลต้องชัดเจนว่าจะมีแนวทางการรับมือการขึ้นภาษี และจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอย่างไรบ้าง แน่นอนประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออก เราจะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาตลาดใหม่ เช่น ตลาดอินเดีย ตลาดจีน ที่มีอยู่แล้วต้องขยายความร่วมมือเพิ่ม เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปให้น้อยที่สุด”

