3 กูรู ชี้โจทย์ ‘ปัญหา ศก.ที่รอรัฐบาลใหม่’

31 พ.ค. 2566 - 03:21

  • สถาบันคึกฤทธิ์ดึง 3 กูรูเศรษฐกิจ ตั้งโจทย์ใหญ่ ‘ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่’

  • หนุน นโยบายใช้งบประมาณฐานศูนย์ – ขจัดทุนผูกขาด

Economic_3_Guru_discussion_problems_waitin_new_government_SPACEBAR_Thumbnail_af64545476.jpeg
ปฏิเสธไม่ได้ ว่าในท่ามกลางการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ยังมีหลายฝ่ายเป็นห่วงในการเดินหน้าเศรษฐกิจหลากมิติ ก่อเกิดการอภิปราย หัวข้อ ‘ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่’ ซึ่งจัดโดยสถาบันคึกฤทธิ์ เมื่อ 29 พฤษภาคม 2566 โดย 3 กูรูนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ ผู้คร่ำหวอดเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ ทั้งยังมีตำแหน่งทางเศรษฐกิจหลายยุคสมัย 
  • ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  
  • ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)  
  • ม.ร.ว. ปริดียาธร เทวกุล ผู้เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ปัจจุบันยังเป็นประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดอภิปรายครั้งสำคัญนี้ 
จะว่าไป การอภิปรายครั้งนี้ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณการเชื่อมต่อเศรษฐกิจไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่อาจมีจุดที่ว่าที่รัฐบาลใหม่ ‘รู้ และยังไม่รู้’ ก็เป็นได้ การให้ข้อมูลในเวทีอภิปราย จึงเป็นอีกจุดสำคัญ ช่วยชี้แนะ 

3 กูรู ชี้ ตั้งรัฐบาลล่าช้า จะทำให้การแก้ปัญหา ช้าลงไปด้วย
‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร’
ย้อนรอยภาวะเศรษฐกิจช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่า ไทยผจญ 2 วิกฤติสำคัญ คือ โควิด-19 และราคาน้ำมัน โดยการระบาดของเชื้อโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และรัฐบาลใช้เงินจำนวนมากสู้โรคร้าย อุดหนุนผู้คนตกงาน และมีหนี้สาธารณะเพิ่มสูง จากเดิมอยู่ที่ 42% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นถึง 61% ทะลุเพดานเดิม และมีแนวโน้มเพิ่มอีก จากพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ปัจจุบันกล่าวได้ว่า โควิด-19 จางหาย สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นเริ่มกลับมา ประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มซื้อสินค้า แต่ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังทิ้งผลกระทบต่อเนื่อง ทำราคาน้ำมันยังพุ่งสูง กระทบต้นทุนการผลิตสินค้าในทุกภาคส่วน ไม่นับความผันผวนของเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ยังมีอยู่อีกหลายเรื่อง ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ 

หนุนใช้ ‘งบประมาณฐานศูนย์’ ห่วงแรงงาน 
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ยังชี้ ปัญหาแรงงาน เป็นเรื่องเร่งด่วน ให้มุมมอง จำนวนแรงงานมีแนวโน้มลดลงมาก ในระยะ 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลใหม่ จึงควรปรับปรุงกฎเกณฑ์การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวให้สะดวกและง่ายขึ้น เพื่อธุรกิจไทยเดินหน้าได้ 

ช่วงหนึ่ง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ให้ความเห็นกับนโยบายการใช้งบประมาณฐานศูนย์ว่า เป็นเรื่องดี แต่คาดว่า จะทำไม่ทันในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลใหม่จะจัดตั้งได้ประมาณเดือนสิงหาคม และการทำงบประมาณใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ส่วนนโยบาย ‘ขจัดทุนผูกขาด’ เป็นนโยบายที่ควรสนับสนุน 

“ผมอยากฝากว่า นโยบายทลายทุนผูกขาดเป็นนโยบายที่น่าจะเชียร์ เพราะทุนผูกขาดเริ่มกลายเป็นนิสัย มีการใช้คำลักษณะว่าถ้ามีโอกาสก็ต้องรีบทำ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้ไม่ดีสำหรับประเทศชาติ” 
Economic_3_Guru_discussion_problems_waitin_new_government_SPACEBAR_Photo02_93b33c272c.jpeg
ม.ร.ว. ปริดียาธร เทวกุล
‘ดร.ณรงค์ชัย’ เป็นอีกคน ที่หนุนการใช้งบประมาณฐานศูนย์ เพราะจะทำให้มีการวิเคราะห์การใช้งบประมาณ ทำให้ใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

ขณะที่ประเด็นสำคัญคือเรื่อง ‘ค่าครองชีพ’ อันมาจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยแม้ไทยยึดนโยบายไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบ เมื่อน้ำมันราคาแพง ทำต้นทุนการผลิตสูง สินค้าราคาแพง กระทบประชาชน รวมถึงการส่งออกทั้งโดยตรงกับสหภาพยุโรป (อียู) และกับคู่ค้าไทยที่ไปค้ากับอียู ล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น  

นอกจากนี้ ในประเด็น ‘การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า’ ย่อมจะทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ล่าช้าตามไปด้วย หรือยิ่งจะทำให้ปัญหาพอกพูนมากขึ้น 

ดังนั้น หลังจากนี้การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้น ต้องเป็นนโยบายที่ทำแล้วช่วยสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ เช่น อำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนโดยในเทคโนโลยี เร่งดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้เร็วขึ้น 

ขณะที่ในระยะต่อไปไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้ระบบไอทีมาใช้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยทั้งในด้านการพัฒนาชีวิต การศึกษา สาธารณสุข ขณะที่ในภาวะที่ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านต่างต้องการเป็นพันธมิตรกับไทยในด้านต่างๆ จึงเป็นโอกาสใหม่ที่ดีของไทยที่จะพัฒนาในตัวเองเป็นศูนย์กลางทางการค้า 

นอกจากนี้ สิ่งที่ไทยต้องแก้ไขอย่างจริงจังคือเรื่อง ‘ปัญหาการคอรัปชัน’ เนื่องจากจะมีส่วนช่วยเข้ามาแก้ไขทุกปัญหาของไทยโดยเฉพาะทำให้การกระจายอำนาจเกิดขึ้นได้จริง 
Economic_3_Guru_discussion_problems_waitin_new_government_SPACEBAR_Photo03_a5efe9b656.jpeg
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
‘ดร.ศุภวุฒิ’ กล่าววิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง สะท้อนมุมมองคนไทย ที่มองว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดี จึงเป็นกระแสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แต่นโยบายเศรษฐกิจหลักๆ ของพรรคก้าวไกลคือ ขจัดระบบทุนผูกขาด และทำรัฐสวัสดิการ ด้วยการเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  

ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ชี้แจงว่าจะใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท เป็นสวัสดิการสำหรับคนชราประมาณ 420,000 ล้านบาท และเป็นของเด็กประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะอาศัยการหารายได้โดยการเก็บภาษีที่มากขึ้น โดยเป็นการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อช่วยคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ  

แล้วมีภาษีอะไรบ้าง 
ซึ่งหากมองภาพจากนักเศรษฐศาสตร์ รายจ่ายส่วนใหญ่ 6.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่ม คนแก่ 4.2 แสนคน และเด็ก 1 แสนคน ซึ่งคนแก่มากกว่าเด็กถึง 4 เท่า โดยจะต้องใช้การเก็บภาษีค่อนข้างมาก และนโยบายส่วนใหญ่เป็นการเก็บภาษีจากคนรวย ได้แก่  
  • ภาษีความมั่งคั่ง 
  • ภาษีที่ดินรายแปลง 
  • ภาษีบุคคลทุนใหญ่ 
  • เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี 
อย่างไรก็ตาม ดร. ศุภวุฒิ ได้ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีจากกำไรไม่ว่าจะเป็นภาษีบริษัทขนาดใหญ่ ภาษีการซื้อขายหุ้น ภาษีความมั่งคั่ง จะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย 

“ในยุคที่ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทุนราคาแพงขึ้นแต่เราจะเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น return on investment จะลดลง และหากจะเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นด้วย น้ำมันก็ยังแพงอยู่ ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วงคือจะมั่นใจได้หรือว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อไปได้ในภาวะเช่นนี้” 

ทั้งนี้ ดร. ศุภวุฒิ มองว่าแนวทางในการหารายได้เพิ่มขึ้นนั้น เห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะการขึ้น VAT อีก 1% ก็จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 80,000 ล้านบาท หากขึ้น VAT เป็น 10% ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ซึ่งเป็นกรณีที่หากต้องการเก็บภาษี และมีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด และตามกฎหมายการเก็บ VAT อยู่ที่ 10% แต่ปัจจุบันมีการลดอัตราภาษี VAT ลงมาเหลือ 7% 

ดร.ศุภวุฒิ ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ชี้ด้วยว่า ประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ยาก ยกตัวอย่างข้อมูลของเกียรตินาคินภัทร ที่ได้รวบรวมข้อมูลธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศไทย ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า ธนาคารขนาดใหญ่ได้หยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว โดยสินเชื่อลดลง -0.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าธนาคารเริ่มระมัดระวังตัวแล้ว  

ขณะที่ข้อมูลจากเครดิตบูโรยังพบว่า ปัจจุบันหนี้เสียของรายย่อยสูงถึง 9 แสนล้านบาท และมีหนี้ที่กำลังเริ่มจ่ายไม่ไหวประมาณอีกประมาณ 6 แสนล้านบาท รวมกันแล้วกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก 

นอกจากนี้ หากมองไปข้างหน้าการที่ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิด ซึ่งจะได้รับผลกระทบเมื่อประเทศอื่นๆ มีปัญหา โดยในอนาคตหากอเมริกาเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอเศรษฐกิจมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ในฝั่งยุโรปยูเครนก็พยายามเตรียมบุกยึดคืนพื้นที่ทำให้มีความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ และจีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจก็เริ่มฟื้นช้ากว่าที่คิดซึ่งอาจกระทบต่อภาคท่องเที่ยวของไทยได้ 

“เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด การส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% ของจีดีพี ซึ่งหากดีมานด์จากภายนอก เศรษฐกิจไทยจะฟื้นยากเช่นเดียวกัน”  
Economic_3_Guru_discussion_problems_waitin_new_government_SPACEBAR_Photo04_b2e872eceb.jpeg
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นอกจากนี้ เกียรตินาคินภัทร ได้รวบรวมข้อมูล FDI หรือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย โดยพบว่าไทยไม่สามารถดึงเงินทุนจากต่างประเทศได้ดีเท่าประเทศคู่แข่ง โดยพบว่าจากที่เคยดึงเข้ามาได้ 40% ปัจจุบันเหลือเพียง 8.9% 

เศรษฐกิจไทย อะไรเป็นความท้าทายในรัฐบาลใหม่ 
ดร. ศุภวุฒิ ยังได้กล่าวถึง 4 เรื่องท้าทายที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาดูแล  ได้แก่ 
  1. แรงงานของไทย โดยในปี 2050 แรงงานของไทยจะหายไปเกือบ 11 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน บางประเทศ เช่น สิงคโปร์มีการนำเข้าแรงงานจำนวนมาก 
  2. การศึกษาไทย เป็นสิ่งที่ตามมาหลังจากขาดแรงงาน เพราะหากแรงงานมีจำนวนน้อยลง ก็ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอัพสกิล-รีสกิล จะต้องทำพร้อมๆ กัน ซึ่งมีโรงเรียนในภาคบังคับ 1.5 หมื่นโรงเรียน มีครูเพียง 5 คนต่อโรงเรียน และต้องสอนนักเรียนถึง 6 ชั้น ซึ่งจะทำให้การศึกษาเดินต่อไปได้ยาก รวมทั้งจะต้องมีการปฏิรูปหนี้ให้กับครู เนื่องจากปัจจุบันครูมีหนี้เฉลี่ยถึงคนละ 1.5 ล้านบาท  
  3. ความเหลื่อมล้ำด้านธุรกิจ เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลเรื่องการจัดการเรื่องทุนผูกขาด เพราะบริษัทใหญ่ในไทย 5% ทำรายได้ถึง 85% ของรายได้บริษัททั้งหมด และครองกำไรถึง 60% ของกำไรของภาคธุรกิจทั้งหมด นอกจากนี้ ยังต้องผลักดันให้เอสเอ็มอีของไทยเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพสูงขึ้นมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น 
  4. อุตสาหกรรมของไทย โดยแม้ว่าอุตสาหกรรมถูกดิสรัปชัน เพราะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แต่ปัจจุบันรถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ดังนั้น ซัพพลายเชนของไทยจะถูกดิสรัปชัน นอกจากนี้ อีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่จะต้องแย่งกับคนอื่น คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องแข่งเอาทุนเข้ามาทำให้ไทยอยู่ในซัพพลายเชน ส่วนภาคเกษตรจะต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
  5. ดูแลกลุ่มอ่อนไหว หรือคือคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้ โดยเฉพาะเจน X เจน Y เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ เสียอนาคต ด้วยการเข้าไปช่วยรีสกิล-อัพสกิล เพื่อขอยืดเวลาการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีอนาคต  
สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ ทั้ง 3 ท่านตอกย้ำ เป็นรายการ ‘กูรูสอนศิษย์’ ที่ศิษย์นั้น ควรรับฟัง เพื่อทำหน้าที่ได้ทันที เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่แล้วเสร็จ
Economic_3_Guru_discussion_problems_waitin_new_government_SPACEBAR_Photo01_9b50f72c15.jpeg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์