ภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย
มีความตื่นตัวกับเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงห่างไกลจากโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ใช่แค่ใส่ใจเลือกอาหารที่ดีแต่ยังหันมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจากการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) ที่ผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพให้ความนิยมกันมาก และเป็นตัวเลือกที่สำคัญที่จะมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในอนาคต เพราะผ่านกระบวนการแปรรูปที่น้อยลง จึงเป็นการลดการใช้ทรัพยากรพลังงานและให้พลังงานต่ำ แต่ยังได้รับสารอาหารครบถ้วนและจำเป็นต่อสุขภาพ อีกทั้ง โปรตีนทางเลือกยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ
โดยมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกของไทย มีมูลค่ากว่า 3.62 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2564) ซึ่งเป็นมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ มีมูลค่า 4,500 ล้านบาท มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 5,670 ล้านบาท ภายในปี 2567 จึงเป็นความท้าทายและโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมของไทย
สำหรับกิจกรรมการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนและยกระดับผู้ประกอบการให้ก้าวทันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดย ดีพร้อม ได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ เพื่อผลักดันศักยภาพของผู้ประกอบการภาคเกษตรอุตสาหกรรมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คาดสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตรแปรรูป ภายใต้แนวคิด “การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางธรรมชาติ และความมั่นคงทางอาหาร” รวมถึงการนำทุนทางทรัพยากร
ที่มีอยู่เดิมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในพื้นที่สู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและดีต่อสุขภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือในอนาคต
ดีพร้อม ตั้งเป้าผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนทางเลือกสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์/กิจการ จากอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดจะได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตรแปรรูปจากทีมกูรูผู้เชี่ยวชาญ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมบ่มเพาะทักษะ องค์ความรู้ต่าง ๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนทางเลือกสำหรับทดแทนโปรตีนจากสัตว์ เช่น โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) โปรตีนจากสาหร่าย (Algae-based Protein) เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว จะมีโอกาสเข้าร่วมทดสอบตลาดภายในงานแสดงสินค้าต่อไป