จับตาหนี้เสียพุ่ง หลังเริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระจ่ายบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น

8 พ.ค. 2567 - 08:44

  • ยอดสินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาสแรก กว่า 5.5 แสนล้าน

  • สินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย ค้างชำระเงิน 90 วัน ราว 6.4 หมื่นล้าน

  • บัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระเกือบสองแสนใบ

economic-bank-bad-debt-credit-card-SPACEBAR-Hero.jpg

ข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโรล่าสุด ณ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เปิดเผยถึงยอดสินเชื่อบัตรเครดิตในไตรมาสแรกของปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) ​​มียอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด​ 24 ล้านใบ คิดเป็นเงินกว่า​ 5.5 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วไม่มากนักคือราว ​ 3.2% และหดตัวจากสิ้นปีที่แล้ว 2566 ประมาณ​ 5.1%

แต่เริ่มเห็นถึงสัญญาณที่น่าเป็นห่วงจากปัญหาหนี้เสีย และหนี้ที่กำลังจะมีปัญหา ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากมาตรการที่กำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องมีการจ่ายหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีการผ่อนผันให้จ่ายเพียง 5% ในช่วงการระบาดของ โควิด-19 โดยมีหนี้เสีย หรือ NPLs และหนี้กำลังจะเสีย SM เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ในส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย NPLs ที่ค้างชำระเงิน 90 วัน มีจำนวน​ประมาณ​ 1 ล้านราย คิดเป็นยอดเงินราว​ 6.4หมื่นล้านบาท กระโดดขึ้นมาจากปีที่แล้วถึงราว 14.6%

ในเวลาเดียวกันยอดหนี้ที่เริ่มมีการผิดนัดชำระ SM - Special Mention​ หรือ หนี้ที่กำลังจะเสีย เริ่มมีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก​ติด ๆ ขัด ๆ ​ถึงราว 1.9แสนราย มูลค่าราว​ 1.2 หมื่นล้านบาท พุ่งสูงขึ้นถึง ​32.4% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2566 ถึง 20.6% ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะมีการไหลเพิ่มและแรงกว่าเดิมหรือไม่ในอนาคต จากปัญหาค่าครองชีพที่เริ่มขยับสูงขึ้น ในขณะที่​รายได้ของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว​ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

เมื่อลงในรายละเอียดเชิงลึก จะพบว่าบัตรเครดิตที่เริ่มมีปัญหาผิดนัดชำระหรือ​ SM จำนวนเกือบ​สองแสนใบนั้นพบว่า เป็นบัตรที่เพิ่งเปิดมาไม่เกินสองปี จำนวน 3.6หมื่นใบ โดยอยู่ในมือของ คน​ Gen Y​ 2.3 หมื่นบัตร​

บัตรที่เปิดมามากกว่า​ 2 ปีแต่ไม่เกิน​ 4 ปี มีจำนวน​ 3.9 หมื่นบัตร​ อยู่ในมือ​ Gen Y​ 2.7หมื่นบัตร Gen X​ 9.2พันบัตร

เปิดมามากกว่า​ 4 ปีแต่ไม่เกิน​ 6 ปี​ 4.5หมื่นบัตร​ อยู่ในมือคน​ Gen Y​ 3หมื่นบัตร​Gen X​ 1.2​หมื่นบัตร​

ต้องจับตามองว่า ยอดหนี้กำลังจะเสีย ​SM.จะไหลกลายเป็นหนี้เสีย​ NPLs. ในอีกไม่นานนี้มากน้อยแค่ไหนเท่าใด​ และทั้งหมดเริ่มทำให้เกิดคำถามว่า การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก​ 5%เป็น​ 8% และ​ 10%ตามลำดับ​ จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่ หากสภาพเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแรง แต่กลับมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าหรือภาวะเงินเฟ้อเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่มียอดหนี้บัตรเครดิตสูง ๆ หรือ มีบัตรเครดิตหลายใบจะเริ่มมีปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการติดกับดักหนี้ในอนาคต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์