สนามบิน-ท่าเทียบเรือ ดัน ‘พังงา‘ HUB ท่องเที่ยวอันดามัน

2 พ.ย. 2567 - 06:27

  • สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงาดันสุดตัวสร้างสนามบินอันดามัน(พังงา)หรือภูเก็ต2 ใหญ่ที่สุดรองจากสุวรรณภูมิ

  • วอนรัฐเร่งแก้ผังเมือง เพื่อรองรับการพัฒนาเชื่อมความเจริญกับสนามบินและสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่บ้านทับละมุ

economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Hero.jpg

นายเลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงาและที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับทีมข่าวSpacebar Big City ว่า พังงาเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ฝั่งอันดามันที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว อยู่ติดจังหวัดระนองและกระบี่ ซึ่งทั้ง3 จังหวัดอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ส่วนจังหวัดภูเก็ตแยกออกไปเป็นเกาะ ในอนาคตของจังหวัดพังงา จะต้องเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพ รองรับความเจริญทางด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และการขนส่ง

“หากรัฐบาลเร่งพิจารณาดำเนินการก่อสร้างสนามบินอันดามัน (พังงา) หรือภูเก็ต 2 ขึ้นในพื้นที่ของอำเภอท้ายเหมืองได้รวดเร็ว มีโครงการลงทุนถึง 7 หมื่นล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ ก็จะส่งเสริมให้จังหวัดพังงามีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวที่สูงมากอีกจังหวัดหนึ่งฝั่งทะเลอันดามัน มาดูถึงศักยภาพของสนามบินอันดามัน(พังงา)หรือภูเก็ต 2 ที่จะสร้าง ใช้พื้นที่ประมาณ 7,000ไร่ มีทั้งที่ดินกรมธนารักษ์และที่ดินเอกชน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี มีทางวิ่งอากาศยานรันเวย์ 2 เส้น สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้มากถึง 40 ล้านคนต่อปี”

เลิศศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า ก่อนการสร้างสนามบินพังงา ภาครัฐควรจะก่อสร้างโครงการพื้นฐานให้ครบ โดยเฉพาะรถไฟไฟฟ้ามวลเบา ที่วิ่งเชื่อมระหว่างพื้นที่โคกกลอยอำเภอท้ายเหมืองกับสนามบินอันดามันพังงาหรือสนามบินภูเก็ต 2 โดยเชื่อมเข้าไปยังตัวเมืองภูเก็ตและสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดให้มีการขนส่งมวลชนที่ดี เพราะผู้ที่จะใช้บริการรถไฟไฟฟ้านั้นคือนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางสู่ภูเก็ตหรือพังงาด้วยเครื่องบิน นักท่องเที่ยวต้องการระบบขนส่งมวลชนที่ดีจากสนามบินไปยังเมืองภูเก็ตและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: เลิศศักดิ์ ปนกลิ่น นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา

นอกจากโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน (พังงา) ภาคเอกชนก็เรียกร้องรัฐปรับปรุงขยายท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว 3 แห่งที่ทรุดโทรม ไม่มีความปลอดภัย ไร้ระเบียบหลังจากที่ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้โดยสารเรือนักท่องเที่ยวรวมไปถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวและเรือทัวร์ เรือโดยสาร ที่เข้ามาใช้ท่าเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง ท่าเรือคุระบุรี อำเภอคุระบุรี ท่าเรือน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า

economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Photo02.jpg
economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Photo03.jpg

”มีเสียงสะท้อนอยากให้ภาครัฐ ดำเนินก่อสร้างขยายปรับปรุงท่าเรือทับละมุ ให้มีอาคารที่พักผู้โดยสาร ทั้งผู้โดยสารขาออกและผู้โดยสารขาเข้า มีที่นั่งพักผ่อน ห้องน้ำห้องส้วม ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าจากชุมชนประมง และสิ่งอำนวยคามสะดวกในท่าเรือ ที่จะต้องมีให้ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว“

ขณะเดียวกันยังต้องการให้ภาครัฐเร่งสำรวจในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงขยายท่าเทียบเรือทับละมุ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีการทอดสมอและจอดเรือของผู้ประกอบการหลากหลายประเภท เช่น เรือประมง เรือพาณิชย์ เรือท่องเที่ยว เรือโดยสาร เรือตกปลา และเรือดำน้ำลึก ซึ่งมีจำนวนมากที่จะพานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทะเลอันดามัน เช่น เกาะสิมิลัน ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา

”เพื่อให้มีการจัดระบบการจอดเรือ การเดินทางของผู้โดยสารเข้าออกท่าเรือทับละมุได้มีความสะดวก สบายปลอดภัยและเป็นระบบมากขึ้น จึงอยากให้ภาครัฐโดยเฉพาะกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดสร้างท่าเรือโดยด่วน รวมทั้งยังมีท่าเรือที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวอีกแห่งคือท่าเรือคุระบุรี ท่าเรือน้ำเค็ม ท่าเรือทับละมุ(สะพานปูน)จะมีเรือโดยสารนำเที่ยวไป หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ท่าเรือบ้านน้ำเค็ม ที่วิ่งเส้นน้ำเค็ม-เกาะคอเขา ท่าเรือคุระบุรี“

สถิติจำนวนผู้โดยสารปีงบประมาณ 2563  จังหวัดพังงามีท่าเรือ17แห่ง เส้นทางเดินเรือ 34 เส้นทาง เรือจำนวน 364เที่ยวเรือ(เที่ยว/ปี) จำนวนผู้โดยสาร(คน/ปี) 2,042,982คน

ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวพังงา จึงมีความต้องการให้รัฐสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ในพื้นที่บ้านทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง ที่มีความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดจอดเรือและมีร่องน้ำลึก มีความเหมาะสมทุก ๆ ด้าน อีกทั้งมีฐานทัพเรืออยู่ที่แห่งนี้

”เร็ว ๆ นี้ เรือสำเภา Americo Vespucci จากประเทศอิตาลี จะมาเทียบท่าจังหวัดภูเก็ต ได้รับการยกย่องว่าเป็นเรือสำราญที่งามที่สุดในโลก หากพังงามีท่าเรือขนาดใหย่รองรับเรือสำราญเช่นนี้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาเที่ยวพังงา“

เลิศศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดหนึ่งที่สามารถพัฒนาเมืองสู่การค้า การลงทุนและที่สำคัญคือ ธุรกิจการท่องเที่ยวได้ สำหรับพื้นที่อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างสนามบินอันดามันพังงา หรือ ภูเก็ต 2 ขึ้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น

economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Photo04.jpg

“ปัญหาและอุปสรรคในขณะนี้ คือ รัฐต้องปรับแก้ผังเมืองพื้นที่บริเวณโดยรอบของสนามบิน เพื่อให้สามารถดำเนินการลงทุน พัฒนาเมือง รองรับการท่องเที่ยวได้ ขณะนี้กฎหมายผังเมืองคือปัญหาการพัฒนาเมือง ดังนั้นจังหวัดพังงาต้องการแก้ผังเมือง เพื่อให้สามารถ สร้างโรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าได้ เพราะหากแต่สนามบินธุรกิจอื่น ๆ สร้างขึ้นมาไม่ได้ แล้วมีสนามบินไว้ทำไม”

ปัญหาผังเมืองพังงา ภาคเอกชนพูดคุยในที่ประชุม กรอ.จังหวัดหลายครั้ง และเคยยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่มาตรวจราชการจังหวัดพังงา ก็ได้มีการยื่นหนังสือเพื่อให้แก้ผังเมืองแล้ว  พื้นที่เป็นปัญหา พื้นที่แรกตำบลโคกกลอย ที่จะสร้างสนามบิน เป็นสีขาว-สีเขียว  

พื้นที่ที่ 2 คือ อำเภอเกาะยาว ซึ่งจะมีพื้นที่ติดสิ่งแวดล้อมซึ่งบริเวณดังกล่าวนั้นจะพัฒนาอะไรไม่ได้ พื้นที่ตรงนี้สามารถพัฒนาร่วมกับจังหวัดภูเก็ตได้ พื้นที่ที่ 3 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ บ้านเขาหลัก เกาะคอเขา พื้นที่ดังกล่าวอยากจะนำเสนอให้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ

เลิศศักดิ์ กล่าวปิดท้ายอีกว่า การแก้กฎหมายผังเมือง รัฐบาลจะต้องมองภาพรวม แก้จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันทั้งหมด ควรจะทำทั้งระบบให้เป็นจังหวัดกลุ่มอันดามัน 6 จังหวัด ติดทะเลนั้นจะอยู่ในพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ  พื้นที่ป่า พื้นที่อนุรักษ์ และยังติดผังเมือง จะพัฒนาการท่องเที่ยวอะไรไม่ได้  ปัจจุบันนี้จังหวัดพังงา สร้างตึกได้ไม่เกินความสูง 3 ชั้น

“จังหวัดพังงา มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน นส.3 ก และ นส.3 จะเห็นว่าพื้นที่หรือสถานที่ท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน 6 จังหวัดจะอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ อยู่ในพื้นที่ป่าและพื้นที่อนุรักษ์ทั้งสิ้น ดังนั้นรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพราะในหลายประเทศถึงแม้จะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ก็สามารถเข้าไปทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้ ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศไทยเอาอย่างต่างชาติกลับมาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ของไทย”

นอกจากนี้ ปัญหาผังเมือง ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอาคารห้างสรรพสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อบริการนักท่องเที่ยว เช่น โรงพยาบาลเอกชน

“อย่าลืมว่าพื้นที่ภูเก็ตและพังงา จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะทำประกันอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย เมื่อประสบอุบัติเหตุ จากพื้นที่จังหวัดพังงา แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มาตรฐานและทันสมัยมารองรับได้ ทุกครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะต้องลำเลียงไปจังหวัดภูเก็ต หรือบางครั้งต้องลำเลียงเข้ากรุงเทพมหานคร เพราะพื้นที่จังหวัดพังงา มีเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น”

สถานการณ์ท่องเที่ยวพังงา มกราคม ถึง ธันวาคม 2566 อัตราการเข้าพักเฉลี่ย61.99%  จำนวนห้องพัก 13,935 ห้อง/วัน พักเฉลี่ย 9.84 วัน 2,910,157คน เป็นคนไทย 1,065,590 คน  เป็นชาวต่างชาติ 1,844,567 คน  สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 63.38% คนไทย 36.62%     

รายได้จากผู้มาเยือน 28,494,4.55 ล้านบาท เป็นชาวไทย 4,610.6 ล้านบาท เป็นชาวต่างชาติ 23,884 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน 6,119.28 บาท นักท่องเที่ยว 7,333.63 คน นักทัศนาจร 2,513.97  คน

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในจังหวัดพังงา 5 อันดับ คือ เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สิ้นปี 2567 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 60,000 ล้านบาท และสิ้นปี 2568 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 80,000 ล้านบาท

economic-business-airport-pier-phangnga-andaman-tourism-hub-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์