ธปท.แจงหนี้เสีย ตัวเลขล่าสุด 5.53 แสนล้านบาท

27 พ.ย. 2567 - 08:33

  • ธปท.สรุปตัวเลขสินเชื่อ และหนี้เสียในระบบ

  • หนี้เสียยังแตก 5 แสนล้านบาท

  • สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อรถยนต์หดตัวต่อเนื่อง

economic-business-baddebt-personal-loans-car-SPACEBAR-Hero.jpg

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3 ปี 2567 ยังคงมีเสถียรภาพ  เหตุผลหลักมาจากการชำระคืนหนี้คืนของรัฐ ที่เป็นช่วงเบิกจ่ายงบประมาณก่อนปิดปีงบประมาณ และมีธุรกิจขนาดใหญ่บางกลุ่ม มีการชำระหนี้คืน หลังระดมเงินจากการออกตราสารหนี้ต่างๆ ได้ ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลง

ภาพรวมหนี้เสีย เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.97% โดยเพิ่มขึ้น จาก 2.84% จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในทุกหมวดสินเชื่อ ทุกกลุ่มสินเชื่อ โดยคิดเป็นหนี้เอ็นพีแอลคงค้าง 5.53 แสนล้านบาท โดยหนี้เสียจากสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.84% จาก 2.70% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ 3.24% จาก 3.13%

หากแยกเฉพาะหนี้เสีย สำหรับสินเชื่อธุรกิจที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท พบว่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหนี้เสียมาอยู่ที่ 1.18% จาก 1.10% และหนี้เสียสำหรับธุรกิจที่มียอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท มาอยู่ที่ 7.13% จาก 6.85%

ด้านพอร์ตหนี้เสียของสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อเช่าซื้อ หนี้เสียมาอยู่ที่ 2.33% จาก 2.29% สินเชื่อบุคคล 2.89% จาก 2.77% สินเชื่อบัตรเครดิต 3.65% จาก 3.53% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 3.82% จาก 3.71%

หนี้เสียที่เพิ่มขึ้นในส่วนสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต พบว่า มีการปรับเพิ่มขึ้นของ Stage 3 มาจากกลุ่มที่มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ยกเว้นสินเชื่อบ้านที่ขยับเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และกลุ่มที่มีรายได้ 30,000-50,000 บาทด้วย และมีความกังวลกับกลุ่มที่มีความเปราะบาง จากข้อมูลรายได้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่ต่ำกว่า 30,000บาท หรือกลุ่มที่เป็นรายได้ประจำและกลุ่มที่เป็นอาชีพอิสระ

การปล่อยสินเชื่อใหม่ยังคงมีต่อเนื่องในธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภาคบริการ อสังหาริมทรัพย์ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมการผลิต

สินเชื่อธุรกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภค เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มชะลอลง ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิต ยังคงหดตัวต่อเนื่อง  

สินเชื่อรายย่อยหดตัว 1.0% โดยสินเชื่อรถยนต์จะหดตัว 7.6% เป็นการหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการขายขาดทุนรถถูกยึด และราคารถที่ถูกลง ส่งผลให้ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว 2.4% เป็นการหดตัวไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน

การปรับลดลงของสินเชื่อ ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2553 คล้ายกับพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศที่หดตัวเช่นกัน ทั้งจากปัญหากีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้การธุรกิจแข่งขันไม่ได้มากขึ้น แต่หากมองไปข้างหน้า สินเชื่อมีทิศทางขยายตัวได้

สำหรับความคืบหน้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ที่ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลัง และรัฐบาล และสมาคมธนาคารไทย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ คาดว่าจะเห็นมาตรการออกมาชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้ ก่อนสิ้นปี 2567 โดยการแก้หนี้ครัวเรือนครั้งนี้จะเน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มเปราะบาง 

การทำมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ มีกำลังในการช่วยเหลือลูกหนี้มากขึ้นผ่านการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลด 0.23% จาก 0.46%

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์