ปล่อย ‘ราเกซ สักเสนา’ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

10 ก.ย. 2567 - 09:45

  • พ่อมดการเงิน ราเกซ สักเสนา รับพระราชทานอภัยโทษ

  • ผู้ต้องขังคดียักยอกทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจรับเตรียมและเตรียมส่งกลับอินเดีย

economic-business-embezzlement-fund-SPACEBAR-Hero.jpg

นายราเกซ สักเสนา ผู้ต้องขังในคดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (บีบีซี) ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฏาคม 2567  เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้รับตัวนายราเกซ สักเสนา เพื่อส่งตัวไปที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก.สส.สตม.) เพื่อดำเนินการผลักดันออกนอกประเทศตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 

นายราเกซ  สักเสนา อดีตโบรกเกอร์ได้รับการเรียกขานว่าเป็นพ่อมดการเงิน  เป็นผู้ต้องขังคดีความผิดฐานพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือ บีบีซี ระหว่างปี 2537-2539 ในช่วงที่เขารับตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์

นายราเกซ ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่นักธุรกิจและนักการเมืองเพื่อเข้าเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีกำไรจากการซื้อมา-ขายไป ทำให้ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ มีหนี้เสียมากกว่า 80,000 ล้านบาท และต้องปิดกิจการไปในที่สุด

คดีนี้ต่อสู้กันสามศาล ในที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท โดยมีสำนวนแรก 60 กระทง สำนวนที่สอง 6 กระทง และสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง รวมจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และสั่งคืนเงินผู้เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

นายราเกซหลบหนีคดีไปยังประเทศแคนาดา แต่ถูกจับกุมในปี 2539  ทางการไทยได้ประสานงานกับแคนาดาขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และในปี 2552 ศาลฎีกาแคนาดามีคำสั่งส่งตัวให้ประเทศไทย

ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาเมื่อปี 2555 จำคุกนายราเกซ 10 ปี และต่อสู้คดีเรื่อยมา กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2565 รวมรับโทษจำคุกแล้ว  15 ปี และได้รับการพระราชทานอภัยโทษในที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์