‘ปีนี้น้ำจะท่วมกรุงเทพฯไหม?’ คำถามนี้อยู่ในใจใครหลายคน ยิ่งในช่วงนี้ นั่งดูข่าวน้ำท่วมทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นน้ำเดินทางลงมาเรื่อย ๆใกล้ถึงกรุงเทพฯ ทุกคนจะคิดเหมือนกัน คือ จะเหมือนปี 2554 ไหม?
คำตอบของคำถามนี้ หากย้อนไป ถอดรหัสจากเหตุการณ์ มหาอุทกภัย 2554 จะอธิบายเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
(สทนช.) อธิบายว่า เหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 เกิดจากปริมาณน้ำที่มากผิดปกติในตอนนั้นมีพายุเข้ามาถึง 5 ลูก เริ่มตั้งแต่มิถุนายน มีพายุไหหม่า กรกฎาคม พายุนกเต็น กันยายน พายุไถ่ถาง ตุลาคม พายุเนสาด และพฤศจิกายน พายุนาลแกขณะที่ปีนี้พายุยังไม่เข้าประเทศไทยโดยตรงเลยแม้แต่ลูกเดียว
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมของปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมในภาคเหนือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้ แค่ฝนตกลงมาแล้วมีการระบายน้ำที่มีปัญหาบางช่วง ยังไม่เกิดวิกฤตเหมือนกับปี 2554
ถ้าเปรียบเทียบกันที่ปริมาณฝน ปี 2554 มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 24 ปีนี้ มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 4 ผลต่างของปริมาณฝนจึงต่างกันร้อยละ30
ไปดูที่ปริมาณน้ำ พื้นที่รองรับน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก ปี 2554 มีพื้นที่รองรับน้ำได้ แค่ 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปีนี้ยังมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หากฝนตกลงเหนือเขื่อน เขื่อนใหญ่ทั้งหมดจะสามารถรองรับปริมาณน้ำได้
พื้นที่เก็บกักน้ำในลุ่มแม่น้ำป่าสักและแควน้อย พอไปดูสถานการณ์ของพื้นที่ที่รวมน้ำ อย่างปากน้ำโพ ปี 2554 มีปริมาณน้ำ 4,689 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปีนี้ ในเวลานี้อยู่ที่ 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีความแตกต่างกัน 4 เท่า ในขณะที่ช่วงนี้เข้าสู่ปลายฤดูฝนของภาคเหนือแล้ว จะมีฝนตกตามฤดูอีกหนึ่งเดือนในเดือนกันยายน
ระยะต่อไป ฝนที่จะตกจะเป็นสถานการณ์ของภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง จากปลายเดือนกันยายนไปถึงตุลาคม ยังมีเวลา 1 เดือนที่จะจะระบายน้ำจากภาคเหนือลงมา หากไม่มีพายุเข้า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำยังรองรับน้ำได้อีกมาก
สำหรับโอกาสที่จะเกิดพายุกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุ 1-2 ลูก ก็ยังแตกต่างจากปี 2554 ที่มีพายุเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายนอย่างน้อยรวมแล้ว 5 ลูก
ส่วนภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ปริมาณฝนที่ตกจากตอนบนมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการพร่องน้ำและไล่น้ำที่ท่วมให้ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาโดยได้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำที่หลากลงมา จึงมีความพร้อมที่จะรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา
พื้นที่ตอนล่าง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร มีความพร้อม ที่จะรองรับการระบายน้ำ โดยมีเครื่องสูบน้ำประจำจุดในพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำไว้แล้ว
ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำ สทนช. สรุปว่า สถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำขณะนี้กับปี 2554 ยังห่างไกลกันมาก โอกาสจะเกิดมหาอุทุกภัยเหมือนปี 2554 จึงเป็นไปได้ยาก
เดือนหน้าฝนจะยังตกอยู่บริเวณภาคเหนือ สิ่งที่ต้องทำคือการบริหารจัดการปริมาณน้ำที่จะผ่านลงมา โดยจะประเมินปริมาณน้ำ ซึงจากการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำยมยังมั่นใจว่า จะไม่ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำรุนแรงกับจังหวัดสุโขทัยหรือจังหวัดทางตอนล่าง
เหตุปัจจัย วิกฤติน้ำท่วมปี 54
ย้อนไปในปี 2554 แทบทุกลำน้ำมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จ.นครสวรรค์ จุดบรรจบของแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ประสบกับปริมาณน้ำมหาศาล 48,615 ล้านลูกบาศก์เมตร
แม่น้ำยมมีน้ำมากแต่ไม่สามารถหน่วงน้ำไว้ได้ เป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ พระนครศรีอยุธยามีน้ำไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล ต้องรับมวลน้ำจำนวนมากทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี จนเกิดเหตุน้ำล้นที่ประตูระบายน้ำคลองข้าวเม่าเข้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
พอถึงปลายเดือนตุลาคม กลางเดือนและปลายเดือนพฤศจิกายน น้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ส่งผลให้การระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขังยาวนาน โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมยาวนานหลายเดือน
ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบบระบายน้ำทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความไม่สมดุลระหว่าง ศักยภาพของการส่งน้ำเข้าสู่สถานีสูบกับศักยภาพของสถานีสูบ มีปัญหาการรุกล้ำลำน้ำและการขาดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง สิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนที่รุกล้ำทางน้ำ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ถูกรุกล้ำจนเหลือความกว้างเพียงครึ่งเดียว การขาดการดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ณ เวลาปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงและดูแลคลองสำคัญในกรุงเทพฯ ไปแล้วบางส่วน
ปัญหาจากสะพานที่กลายเป็นสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ ทั้งตอหม้อสะพานที่มีขนาดใหญ่เกินไป ช่องว่างระหว่างเสาสะพานไม่อยู่ในทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำรวมทั้งสะพานที่อยู่ในแหล่งชุมชนเกือบทุกแห่ง ที่พบปัญหาช่องระหว่างเสาของสะพานที่อยู่ติดริมน้ำทั้งสองฝั่งมักถูกรุกล้ำจนกีดขวางการไหลของน้ำ และเหลือเพียงช่องเสาสะพานที่อยู่ตรงช่วงกลางสะพานเท่านั้นที่สามารถใช้ระบายน้ำได้ และปัญหาอันเนื่องมาจากการสร้างพนังและคันกั้นน้ำในพื้นที่ย่อย ประชาชนและองค์กรส่วนย่อยมีการสร้างพนังและคันกั้นน้ำเป็นของตนเอง โดยขาดการบูรณาการในภาพรวม ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำ ไม่สามารถระบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ