ไม่ล้มละลาย-ไม่จ่าย30 มองจุดร่วมทางแก้สภาพคล่อง รพ.

15 ก.ย. 2567 - 08:18

  • ถกเถียงกันในหลายมิติและมุมมอง 30 บาทรักษาทุกโรค ควรเก็บ ควรจ่าย ควรลด หรือไม่

  • แพทย์ บาง รพ.ระบุขาดสภาพคล่อง ค่าบริการต่อหัวสูงเกินงบที่ได้รับอุดหนุน การเก็บ 30 บาทของคนมีกำลังจ่าย จะช่วยอุดช่องว่างปัญหานี้ได้

  • ภาคีภาคประชาชนค้าน หวั่นคนรายได้น้อยหลุดออกจากระบบ และ สปสช.ไม่ควรปรับลดเงินกองทุนผู้ป่วย

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Hero.jpg

“อย่านำประเด็นร่วมจ่ายเป็นเรื่องการเมือง เครือข่ายประชาชนยืนยันไม่ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะถือว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ต้องจัดให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ใช่แค่คนไทย รวมถึงต่างชาติและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ สปสช.มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่เก่งมาก และเชื่อว่าเรามีทางออกทุกเรื่องที่จะทำให้ระบบการจ่ายมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย”

มีนา ดวงราศี เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.สุรินทร์

เสียงสะท้อนบางส่วนจาก “มีนา ดวงราศี” เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.สุรินทร์ ที่พูดคุยกับทีมข่าว Spacebar Big City

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: มีนา ดวงราศี เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ จ.สุรินทร์

มีนา แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการร่วมจ่าย หลังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ลดการจ่ายเงินกองทุนผู้ป่วยใน ที่ปรับลดจาก 8,350 บาทต่อหน่วย เหลือ 7,000 บาทต่อหน่วย โดยระบุว่า อัตราการจ่ายไม่สอดคล้องกับต้นทุน บุคลากรทางการแพทย์แสดงความกังวลว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่เพียงพอ จะทำให้ขาดสภาพคล่อง เครือข่ายโรงพยาบาลจึงเรียกร้องให้ สปสช.จัดสรรงบผู้ป่วยใน ให้สอดคล้องกับต้นทุน และเสนอให้ประชาชนที่มีกำลังจ่าย ได้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล

มีนา ยังบอกอีกว่า การเรียกเก็บเพิ่ม เป็นกรณีการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ  ซึ่งโรงพยาบาลเก็บเงินกับผู้ป่วยไม่ได้ เพราะเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้ จึงมีความเห็นว่า การเก็บเงินในลักษณะนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล ทั้งที่การให้บริการ ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“หากย้อนไปสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีการเก็บ 30 บาท เพราะทำตามเจตนาของธรรมนูญ ขณะที่รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้พูดตรงไปตรงมาว่า กลัวประชาชนลืมว่านโยบายนี้มาจากพรรคเพื่อไทยที่ยกมือในสภา 300-400 เสียง เจตนาคือบอกว่า ต้องรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ออกระเบียบ 21 ข้อ ข้อที่ละเว้น ไม่ต้องการร่วมจ่าย 30 บาท คือ เด็ก พระภิกษุ และ อสม. นอกจากนี้ข้อ 21 บอกว่า ผู้ไม่ประสงค์จ่ายให้แจ้งไม่ร่วมจ่าย ซึ่งไม่มีผลกับการรับบริการครั้งต่อไป เรื่องการร่วมจ่าย จึงเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะกลัวว่าประชาชนจะลืม แต่เมื่อมาถึงหน่วยบริการบอกว่า 30 บาทที่ร่วมจ่าย มีค่ามาก อาจจะนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือด้านต่างๆได้มากขึ้นจนกลายเป็นเกณฑ์ว่า ต้องจ่าย 30 บาท และกระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศว่าสามารถเก็บส่วนนี้ได้ หากมีการร่วมจ่ายจริง เชื่อว่า จะทำให้ชาวบ้านหลุดออกจากระบบการรักษา เพราะนอกจากต้องเสียค่ารักษาพยาบาลแล้ว ชาวบ้านยังมีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่ากินค่าอยู่ ค่าเดินทาง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ การรักษาพยาบาล ต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์ให้ประชาชน”

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Photo05.jpg

“รพ.ศรีนครินทร์ฯ รายรับต่ำกว่าค่ารักษาที่เรียกเก็บเดือนละ 56 ล้าน เป็นมาแบบนี้ 4 ปีแล้วครับ รวมๆ ก็ 2,500 ล้าน แล้วเราก็คงจะมีปัญหาด้านรายรับต่ำกว่ารายจ่ายต่อไปอีกแบบนี้ ถ้า สปสช.และประกันสังคมยังมีแนวทางการทำงานแบบเดิมครับ"

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค Somsak Tiamkao เรียกร้องให้ สปสช.จัดสรรงบผู้ป่วยในให้สอดคล้องกับต้นทุนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น    

ศ.นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า หลังจากรักษาคนไข้ทาง รพ. จะเรียกเก็บตามที่ สปสช.กำหนดไว้  จากนั้น สปสช.จะจ่ายตามค่ารักษาที่เกิดขึ้น จะมี 3 ส่วน ค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจาก สปสช. และส่วนที่ สปสช.จ่ายให้ทาง รพ. ค่ารักษาพยาบาลบางอย่าง จะเบิกจ่ายกับสปสช.ไม่ได้ ทำให้ตัวเลขที่ รพ.เรียกเก็บกับตัวเลขที่ สปสช.จ่าย จะต่างกันเดือนละ 56 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 670 ล้านบาท

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นปัญหาเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีผลต่างที่ได้รับเงินจาก สปสช. โดยโรงเรียนแพทย์และรพ.ศูนย์ มีเทคโนโลยีต่างๆรักษาคนไข้มากกว่า รพ.ขนาดเล็ก ใช้ต้นทุนการรักษาโรคเดียวกัน แต่จะมีความแตกต่างกัน ความคิดเห็นส่วนตัวต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้ สปสช.อย่างเพียงพอ และต้องคำนึงถึงงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัว ที่มีการคิดไว้ต้นปี แต่ความเป็นจริงค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายรายหัว ไม่เคยเพียงพอ หลายปีที่ผ่านมาต้นทุนการรักษาสูงขึ้น สวนทางกับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ที่ไม่ได้เพิ่มตามไปด้วย งบประมาณที่รัฐบาลให้มา จึงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น”

ส่วนประเด็นที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีกำลังจ่ายรับทราบ คือการร่วมจ่าย ค่าใช้จ่ายส่วนเกิน เมื่องบประมาณจาก สปสช.ไม่เพียงพอ ควรต้องหางบประมาณส่วนอื่นเพิ่ม จะทำให้ผลต่างลดน้อยลงไปด้วย และต้องการให้ประชาชนเข้าใจว่า เรื่องงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลยังต้องการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ซึ่งถ้ารัฐไม่สามารถให้เพิ่มได้ ประชาชนอาจจะต้องมีส่วนร่วมถ้าไม่ได้เดือดร้อนอะไร การร่วมจ่ายสิทธิบัตรทองอย่าง 30 บาท ก็อาจจะช่วย รพ.ได้   

ศ.นพ.สมศักดิ์ ย้ำด้วยว่า ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการและคนยากไร้ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์ไม่ต้องจ่ายส่วนนี้ แต่คนที่ไม่เดือดร้อน ก็ควรช่วยกัน เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้รายได้ของ รพ.มีเพียงพอที่จะใช้บริหารและเพิ่มประสิทธิภาพของ รพ.ในการรักษาได้

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น

ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า สปสช.เขต 7 รับผิดชอบหน่วยบริการ 83 แห่ง ครอบคลุม 4 จังหวัด  คือ จ.ร้อยเอ็ด จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธุ์ ที่ผ่านมา สปสช.ให้ความสำคัญกับสภาพคล่องทุกหน่วยบริการ พบว่าหน่วยบริการทั้ง 83 แห่ง สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้

“จากอดีตที่ผ่านมา มีบางหน่วยบริการที่ขาดสภาพคล่อง ทางสปสช.จะแก้ปัญหาโดยการเติมเงินเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนปัจจุบันสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในระดับที่ดี ส่วนใหญ่บริหารจัดการงบประมาณได้ สภาพคล่องที่ขาดของแต่ละหน่วยบริการถือว่ายังไม่เยอะ มีเพียงหนึ่งแห่งที่ต้องเฝ้าระวังการขาดสภาพคล่อง ส่วนสถานบริการที่วิกฤติด้านสภาพคล่อยยังไม่พบเห็น”

ดร.ภก.ณรงค์ ยังได้ชี้แจงประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจเรื่องการร่วมจ่าย รวมทั้งเสนอให้ปรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นกว่า 30 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 5 ประชาชนร่วมจ่ายตามที่คณะกรรมการกำหนดในการร่วมจ่ายของประชาชน คือ 30 บาท และกรณีที่ไม่ต้องร่วมจ่าย 20+1 คือ 20 กลุ่มผู้ยากไร้และ 1 กลุ่มคนที่แสดงความประสงค์ไม่จ่าย แต่ยังได้รับบริการตามมาตรฐาน

“กระแสข่าวที่ระบุให้มีการเพิ่มจำนวนการร่วมจ่ายนั้น ถือว่า เป็นประเด็นใหม่ ที่ต้องมีการพูดคุยกับทุกหน่วยบริการ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ข้อสรุป จึงขอให้ประชาชนสบายใจว่าจะไม่มีการเก็บค่าบริการเพิ่มแต่อย่างใด”

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ดร.ภก.ณรงค์ อาสายุทธ ผู้อำนวยการเขตสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 ขอนแก่น

ส่วนการสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะของ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาท รพ.ศรีนครินทร์ 

ดร.ภก.ณรงค์ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการพูดคุยหารือกัน เมื่อเดือนสิงหาคม ทางโรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้สะท้อนปัญหามา จึงเข้าไปเยี่ยมและเข้าไปดูว่ารายรับที่ต่ำว่า เกิดจากส่วนไหน อย่างไร ตอนนี้กำลังวิเคราะห์ 

เบื้องต้นพบว่า บางรายการอาจจะยังเบิกได้ไม่ครบ บางรายการอาจจะติดเงื่อนไข ซึ่ง สปสช.จะเข้าไปช่วยแก้ไข หากแล้วเสร็จงบประมาณจะโอนเข้าไปให้ตามค่าบริการตามจริง ซึ่งบทบาทของ สปสช.จะช่วยให้หน่วยบริการเขตเบิกได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากค่าบริการตามจริง ซึ่งต้องยอมรับว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น ได้รับคำชมและมีชื่อเสียงเรื่องการรักษา ประชาชนไว้วางใจ

“สปสช.มีกลไกลหลายด้านเพื่อดูแลสภาพคล่องของหน่วยบริการ การขาดสภาพคล่องเป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายถึงไม่มีงบประมาณในการให้บริการ แต่อาจจะมีดัชนีบางตัวที่ขาดทุน บางตัวที่กำไร เชื่อว่าไม่เลวร้ายถึงขั้นล้มละลาย เพราะรัฐบาลสนับสนุนดูแลประชาชนอย่างเต็มที่”

economic-business-khonkaen-hospital-SPACEBAR-Photo04.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์