MOU 2544 แม้จะมีอายุ 23 ปีเต็มแล้ว กำเนิดในยุครัฐธรรมนูญ 2540 ผ่านยุครัฐธรรมนูญ 2550 แต่เมื่อมาถึงยุครัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อพิจารณาแล้วเป็นหนังสือสัญญาที่เข้าข่ายมาตรา 178 ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
ไม่อย่างนั้นจะขัดรัฐธรรมนูญ
MOU 2544 เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสอง !
ก่อนอื่น MOU 2544 ไม่ใช่แค่ ‘กรอบการเจรจา’ เท่านั้น แม้จะใช้ชื่อว่า ‘บันทึกความเข้าใจ’ แต่ก็มีสถานะเป็นสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ผมไม่ได้พูดเองเออเอง แต่เป็นการยืนยันหนักแน่นในบทความทางวิชาการเรื่อง ‘พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ’ โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนที่ลงนามใน MOU 2544 ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ 92พฤษภาคม 2554 สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
เมื่อเป็นสนธิสัญญาแล้ว ต่อไปก็ต้องดูว่าเข้าข่าย ‘หนังสือสัญญา’ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 หรือไม่ จึงจะตอบได้ว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่
ไม่ยาก เปิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 อ่านแล้วเทียบเคียง
ผมขอนำมาแจกแจงเขียนใหม่เป็นข้อ ๆ ให้ได้พิจารณากันชัด ๆ
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสองกำหนดประเภทของหนังสือสัญญาที่คณะรัฐมนตรีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1\. หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2\. หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา
3\. หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศ อย่างกว้างขวาง
ขอให้พิจารณาหนังสือสัญญาประเภทที่ 3 เป็นหลัก
กรุณาสังเกตคำว่า ‘อาจ’ ที่ตามหลังคำ ‘หนังสือสัญญาอื่นที่…’ ให้ดี แล้วค่อย ๆ คิดตาม
ตรงนี้แหละ Keyword ขอ
ไม่เพียงเท่านั้น มาตรา 178 วรรคสามยังได้บัญญัติขยายความเพิ่มเติม ‘หนังสือสัญญาอื่นที่อาจ…’ในมาตรา 178 วรรคสองให้มีความชัดเจนขึ้น โดยระบุไปเลยว่าให้หมายถึงหนังสือสัญญาดังต่อไปนี้
1\. การค้าเสรี
2\. เขตศุลกากรร่วม
3\. การให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
4\. ทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน
5\. อื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
บทบัญญัติที่ระบุไว้ชัดเจนอย่างนี้ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190
MOU 2544 เข้าข่ายข้อ 3 ข้อ 4 ของมาตรา 178 วรรคสามเต็ม ๆ ตรง ๆ
ท่านที่เห็นต่างอาจจะบอกว่า MOU 2544 แม้จะเป็นสนธิสัญญา แต่ก็เป็นเพียงสนธิสัญญาว่าด้วยกรอบการเจรจาเท่านั้น ยังไม่ได้ตกลงอะไรกันเลย และไม่รู้ว่าจะตกลงกันได้หรือเปล่า ถ้าตกลงกันได้ก็จะต้องทำเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาอีกฉบับ และต้องนำมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาจึงจะมีผลใช้บังคับ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น
ก็ขอให้ท่านกลับไปอ่าน 178 วรรคสองประกอบวรรคสามใหม่อีกที แล้วถามตัวเองง่าย ๆ ดังนี้…
ถึงขั้นตอนปัจจุบันยังเป็นเพียงแค่เจรจา ยังไม่ได้ตกลงกัน แต่การเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 ก็ ‘อาจ’ ทำให้ไทยต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติ ‘บางส่วน’ - ใช่หรือไม่ ?
ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรธรรมชาติ - ใช่หรือไม่ ?
ขอบเขตสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยเดิมอยู่ที่เส้นเขตไหล่ทวีปตามประกาศพระบรมราชโองการ 2516 การที่ MOU 2544 ข้อ 2 (ก) ไปรับเอาเส้นเขตไหล่ทวีปตามกฤษฎีกา 2515 ของกัมพูชาเฉพาะส่วนใต้ละติจูด 11° N มาเป็นเส้นขอบเขตด้านทิศตะวันตก (ด้านซ้ายมือของเอกสารแนบท้าย) ของพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) จำนวน 16,000 ตารางกิโลเมตรเพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน ยังไง ๆ ท้ายที่สุดถ้าตกลงกันได้ก็แน่นอนว่าประเทศไทยเราต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติไป ‘บางส่วน’ - ใช่หรือไม่ ??
แต่เดิมเมื่อ 51 ปีมาแล้วไทยอ้างสิทธิว่าสิทธิอธิปไตยตามประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีป 2516 เป็นของไทยทั้งหมด พอ 27 ปีต่อมาไทยทำสนธิสัญญากับกัมพูชาเพื่อตกลงแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม แม้จะไม่ได้แบ่งเขตแดนทางทะเลอันจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตสิทธิอธิปไตยในพื้นที่ส่วนนี้ก็เถอะ แต่การตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ก็มีค่าเสมือนไทยเราสละสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรใต้ผืนดินใต้ทะเลอ่าวไทยในเขตที่ตกลงกันกำหนดเป็นเขตพัฒนารวมไปบางส่วน เหตุผลจะเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรืออะไรอื่นอีกก็ว่ากันไป แต่เมื่อเข้าลักษณะหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกมาบังคับใช้ภายหลัง ก็ต้องปฏิบัติตามให้ครบถ้วน - ใช่หรือไม่ ???
ผมไม่ได้ให้ความเห็นในประเด็นที่ว่า MOU 2544 เป็นโมฆะหรือไม่ หรือการที่รัฐบาลในอดีตเมื่อปี 2544 ไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 หรือไม่
วันนี้ผมเพียงแต่กำลังบอกว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 ซึ่งออกมาบังคับใช้ภายหลังได้เพิ่มเงื่อนไขอื่นเข้ามาแตกต่างออกไปจากรัฐธรรมนูญ 2540มาตรา 224 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนให้รัดกุมขึ้น รัฐบาลปัจจุบันก็ต้องปฏิบัติตาม
โดยนำ MOU 2544 มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
ซึ่งก็ไม่ได้ช้าหรือเสียเวลาอะไรมากมาย
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ถ้าไม่เสร็จ ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
เมื่อรัฐบาลมั่นใจว่ากรอบการเจรจาตาม MOU 2544 ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุด และมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอะไรต้องเกรงเลย !
ดีเสียอีกที่รัฐบาลจะได้อาศัยเวทีรัฐสภาชี้แจงอย่างละเอียดและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก สส.และ สว.ในฐานะ ‘ผู้แทนปวงชนขาวไทย’ ไปพร้อมกัน
ถ้ายังไม่เห็นด้วยกับมุมมองตรงไปตรงมาเหล่านี้ ก็ไม่ว่ากัน
แต่รัฐบาลอย่าทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนหากควรยื่นคำร้องในนามคณะรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงเลยว่า MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178 หรือไม่ ในกรณีนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ไม่เสียเวลาเท่าไรเลย
การยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีนี้เป็นสิทธิของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น สส., สว. หรือประชาชนทั่วไป ไม่มีสิทธิ
ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ยังมิอาจคาดการณ์ได้
แต่ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา MOU 2544ก็ยังไม่เป็นโมฆะ รัฐบาลในนามคณะรัฐมนตรีก็เพียงนำเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณา และก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐสภาจะไม่ให้ความเห็นชอบ
เราเสียเวลามาแล้วนับแต่เจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2513 ก็ 54 ปี หรือนับจากที่มี MOU 2544 ก็ 23 ปี
จะเสียอีกสัก 60 หรือ 90 วันไม่ได้หรือ ?
ปิโตรเลียมไม่หนีไปไหนหรอก !
ถ้าผ่านทั้ง 2 ด่านก็จะได้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง ถ้าไม่ผ่านก็จะได้หาหนทางใหม่
นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรต้องทำเป็นลำดับแรกก่อนการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทยชุดใหม่เสียด้วยซ้ำ
ถ้ารัฐบาลยืนยัน ‘2 ไม่’ กล่าวคือ
\- ไม่นำ MOU 2544 ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
\- ไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องนำ MOU 2544 ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่
เสี่ยงมากนะ !
เพราะอาจต้องเจอ ‘ไม่ที่ 3’ คือไม่ได้อยู่บริหารประเทศต่อไปกันทั้งคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีโอกาสจะถูกกล่าวหาว่าจงใจกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ
คำนูณ สิทธิสมาน
25 พฤศจิกายน 2567