วิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้มีการติดตามสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันเป็นประจำทุกวัน ทั้งผลผลิตและการนำเข้าสู่โรงสกัด จนถึงการนำไปทำเป็นน้ำมันปาล์มขวด โดยมาตรการแรกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ในเรื่องขอความร่วมมือการส่งออก
ส่วนที่สอง คือ การเข้าดูแลโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้าให้ขายในราคาเดิม หากเป็นสต๊อกสินค้าเดิม ซึ่งจากการผลิตในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนยังเป็นสต๊อกเก่าอยู่ จึงห้ามไม่ให้มีการปรับราคาจำหน่าย
และมาตรการต่อมา คือ การผลักดันน้ำมันถั่วเหลือง สำหรับกลุ่มผู้ใช้ในครัวเรือนสามารถใช้น้ำมันถั่วเหลืองสลับกับน้ำมันปาล์มได้ ส่วนผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมันปาล์ม เราจะเข้าดูแลผ่านกลไกของร้านธงฟ้า โดยเตรียมปูพรมเอาน้ำมันปาล์มราคาประหยัดไปจำหน่าย เพื่อเป็นการช่วยเหลือ ซึ่งในทุกมาตรการเรามีทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน โดยจะมีการบริหารจัดการให้มีความสมดุลให้ได้มากที่สุด
โดยเมื่อวันที่ 6พ.ย.67 ได้มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อปาล์ม ณ บจ.ทักษิณปาล์ม โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และลานเท คลองน้อยปาล์ม จ.สุราษฎร์ธานี จากการพูดคุยพบว่า ช่วงนี้ผลผลิตน้อย เป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ในเดือนมกราคม 2568 ผลผลิตน่าจะออกมามากขึ้น โดยที่คลองน้อยปาล์ม ถือเป็นต้นแบบในการทำปาล์มคุณภาพ มีการผลิตปุ๋ยธรรมชาติใช้เองทำให้สามารถช่วยลดต้นทุน และการซื้อขายผลปาล์มก็เน้นผลปาล์มสุกสด ไม่รดน้ำ ไม่มีตะแกรงลูกร่วง ส่งโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการทำลายคุณภาพผลผลิตปาล์ม เพื่อให้เกษตรกรขายได้ราคาที่ดี

ด้านดร.วันสาด ศรีสุวรรณ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของสภาเกษตรได้ทำงานร่วมกับแปลงใหญ่จังหวัดสุราษฎร์ธาน์ ในการจัดการปาล์มคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อราคา จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการทำปาล์มคุณภาพราคาก็ขยับขึ้นเรื่อย ๆ แม้ปัจจุบันทะลายปาล์มจะมีน้อยแต่ราคาปรับสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าการทำปาล์มคุณภาพ ในการตัดปาล์มสุกเต็มที่ ส่งผลให้โรงงานพึงพอใจ วันนี้มีความเชื่อมั่นว่า แม้ปริมาณปาล์มลดลงราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็พอที่จะประคองตัวอยู่ได้ และอยากฝากวิงวอนไปยังประชาชนผู้บริโภค อาจจะบริโภคน้ำมันปาล์มราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เกษตรกรก็พออยู่ได้ ถ้าชาวสวนอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ ประเทศชาติก็อยู่กันอย่างมีความสุข ขอยืนยันว่าเราจะไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน