‘กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง’ ของดีเมืองสองแคว ปลูกส่งแปรรูป รายได้งาม

28 ส.ค. 2567 - 06:08

  • ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องเพิ่มมากขึ้น

  • เป็นพืชที่มีโอกาสทางตลาด และมีความต้องการในอุตสาหกรรมการแปรรูป

  • เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด

economic-business-processed-banana-SPACEBAR-Hero.jpg

ธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง นับเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่มีโอกาสทางตลาด และมีความต้องการในอุตสาหกรรมการแปรรูป 

โดยกล้วยน้ำว้าสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด (สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และ ตาก) ซึ่งกล้วยตากบางกระทุ่มเป็นสินค้า GI และเป็นของฝากที่คนมาเยือนพิษณุโลกเมืองสองแควจะต้องซื้อ โดยเฉพาะการมานมัสการหลวงพ่อพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) จึงนับได้ว่ากล้วยตากเป็น Signature ของจังหวัดพิษณุโลก

ทั้งนี้ สศท.2 ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้ากล้วยน้ำว้า ทดแทนการผลิตข้าวนาปีในพื้นที่ไม่เหมาะสมจังหวัดพิษณุโลก ตามโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และจัดทำแนวทางพัฒนาสินค้ากล้วยน้ำว้า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่

economic-business-processed-banana-SPACEBAR-Photo V01.jpg

จากการศึกษา พบว่า ในปี 2566 จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ปลูกกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องรวม 10,189 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 2,514 ราย ได้ผลผลิตรวม 10,228 ตัน/ปี แหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอบางระกำ บางกระทุ่ม และวังทอง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้น้ำฝนในการดูแลรักษา บางรายมีแหล่งน้ำเสริมในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรผู้ผลิตในพื้นที่เป็นแบบรายย่อย ทำการผลิตในพื้นที่ของตนเองเฉลี่ย 3.94 ไร่/ครัวเรือน และมีประสบการณ์การปลูกกล้วยน้ำว้าประมาณ 15 - 17 ปี ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ จำนวน 40 ราย พบว่า มีต้นทุนการผลิตกล้วยน้ำว้าเฉลี่ย 4,985 บาท/ไร่/ปี ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 10 – 12 เดือน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,097 กิโลกรัม/ไร่/ปี ได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 10,849 บาท/ไร่/ปี และผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 5,864 บาท/ไร่/ปี หรือ 5.34 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri Map ในปี 2566 เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 791 บาท/ไร่/ปี

ราคากล้วยน้ำว้าที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนสิงหาคม 2567 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 15บาท/กิโลกรัม หรือ 22 บาท/หวี (น้ำหนักต่อหวี 1.4 กิโลกรัม) ราคาเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2567 ที่มีราคาเฉลี่ย 10 บาท/กิโลกรัม หรือ 15 บาท/หวี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนเมษายน 2567 ส่งผลให้ต้นกล้วยไม่สมบูรณ์ การติดผลลดลง และผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

economic-business-processed-banana-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะที่กลไกของตลาดยิ่งมีผลผลิตน้อยความต้องการก็จะยิ่งมากขึ้น จึงส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 จำหน่ายให้กับโรงงานแปรรูป ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลผลิตร้อยละ 39 จำหน่ายให้กับพ่อค้ารวบรวมทั้งในและต่างจังหวัด และตลาดขายส่งผลไม้ในจังหวัด และผลผลิตส่วนที่เหลือ 1 จำหน่ายในตลาดนัด/ร้านค้าชุมชน จำหน่ายผ่านพ่อค้ารวบรวมทั้งในและต่างจังหวัด และตลาดขายส่งผลไม้ในจังหวัด 

ทั้งนี้ ภายในปี 2567 เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตจากข้าวนาปีในพื้นที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่ Agri Map เป็นกล้วยน้ำว้ามะลิอ่องในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง วังทอง และนครไทย เพิ่มขึ้นอีก 1,838 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถผลิตสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์