ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามนโยบายการปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เน้นย้ำเรื่องการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.5 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชากรกว่า 12.8 ล้านคนทั่วประเทศ
ปัจจุบัน SMEs กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือ SMEs อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การพัฒนาศักยภาพธุรกิจ และการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้รับงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อดำเนิน ‘โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับ โครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ที่ครอบคลุม
ความต้องการของ SMEs ในทุกมิติ ดังนี้
- โครงการเสริมแกร่งการเงิน เพิ่มทุนหนุนธุรกิจ (สุขใจ) มุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ทุกขนาด(Micro/Small/Medium) ในทุกสาขาอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพ SMEs ในด้านการบริหารจัดการ และช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมในโครงการประกอบด้วยอบรมเชิงปฏิบัติการ บริหารเงิน ฉบับ SMEs การจัด Business Matching เชื่อมโยง SMEs กับแหล่งเงินทุน และการให้คำปรึกษาแนะนำ
ด้านการเงินแบบตัวต่อตัว โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 60 กิจการ และ 300 คน ด้วยงบประมาณ 1.08 ล้านบาท - โครงการยกระดับธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (เปิดใจ) มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) สู่ยุคดิจิทัล และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรม Digital Transformation for SMEs การศึกษาดูงานธุรกิจต้นแบบด้าน BCG และการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย โครงการนี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200 กิจการ และ 400 คน ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาฮาลาลไทย รับรองได้ ขายส่งออกชัวร์ (มั่นใจ) มุ่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจฮาลาลของ SMEs ให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกขนาด (Micro/Small/Medium) ในอุตสาหกรรมฮาลาล ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล การอบรม เจาะตลาดฮาลาลโลก และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และกลยุทธ์ทางการตลาดสำหรับสินค้าฮาลาลเพื่อผลักดันให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 กิจการ และ 300 คน ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท
- โครงการพลิกชีวิต ฟื้นธุรกิจ ปรับหนี้ให้อยู่รอด (สู้สุดใจ) มุ่งช่วยเหลือ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาหนี้สิน ให้สามารถฟื้นฟูกิจการและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง โดยเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ทุกขนาด (Micro/Small/Medium) ในทุกสาขาอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ เพื่อรับคำปรึกษาแนะนำในการปรับโครงสร้างหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้กับเจ้าหนี้และการอบรม ปรับแผนธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ โดยตั้งเป้าหมายช่วยเหลือ SMEs ไว้ที่ 40 กิจการด้วยงบประมาณ 1.92 ล้านบาท