ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่กลุ่มผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก ทั่วประเทศต้องต่อสู้เพื่อหวังปลดล็อกให้ นกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง หนุนสู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่สร้างรายได้อีกทางให้กับประชาชนรากหญ้า ทีมข่าว Spacebar Big City ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อสอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้อง
อิบรอฮีม อ้นบุตร ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกและผู้เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางชมรมฯได้เริ่มขับเคลื่อนในการปลดล๊อกนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยได้นำรายชื่อเกือบ 2 แสนรายชื่อของกลุ่มผู้เลี้ยงนกและการประกอบอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจากการเลี้ยงนกกรงหัวจุกไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยืนยันถึงความจำเป็นที่จะปลดล๊อก เพื่อให้นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจเต็มรูปแบบ และถือเป็น soft power ของจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยยืนยันไม่สนับสนุนการนำนกป่ามาซื้อ-ขาย หรือนำมาเลี้ยง ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกต่างรอความหวังในการปลดล็อก เพื่อพัฒนาการเลี้ยงให้ได้นกที่มีคุณภาพ เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นำรายได้มาสู่ผู้เพาะเลี้ยงและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
“วันนี้การเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกนั้น มีการพัฒนาไปไกลมาก นกสวยงาม อย่างนกกรงหัวจุกที่มีสีขาว ที่เคยหายาก ราคาสูง ก็มีการเพาะเลี้ยงกันได้มากขึ้น ทำให้มีราคาที่จับต้องได้ โดยนกกรงหัวจุกนั้นนอกจากผู้เพาะเลี้ยง ยังมีอาชีพที่เกี่ยวเนื่องอีกจำนวนมาก ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย ปลูกมะละกอ มาจนถึงผู้เพาะเลี้ยงหนอนนก ผู้ปลูกไม้ ผู้ทำกรงนก อาชีพตัดเย็บผ้าคลุมกรงนก อีกจำนวนมาก จึงมองว่า รัฐบาลควรจะเร่งรัดปลดล็อกนกกรงหัวจุก เพื่อให้มาเป็นสัตว์เศรษฐกิจโดยเร็ว”
มานิตย์ บุตรเหลบ ผู้ประกอบการเพาะพันธุ์นก AIK MANIT BIRDFARM กล่าวถึงการเพาะพันธุ์นกปรอทหัวโขนว่า เล่นนกมากกว่า 20 ปีและก็เห็นว่านกแฟนซีแม้ลายขาวนิดเดียวขนขาวนิดเดียวราคาสูงมาก เนื่องจากขณะนั้นเป็นนกธรรมชาติ และหายากต่อมาก็มีการพัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อย ๆ
“การเพาะพันธุ์ จนถึงปัจจุบันได้สีที่หลากหลาย เช่น สีโอวัลติน สีขาวหรือนกเผือกตาดำและเผือกตาแดง ซึ่งหากพิจารณาถึงความหลากหลายของสายพันธุ์นั้น นกกรงหัวจุกจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าเนื่องจากนกกรงหัวจุกมีอยู่ในธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทยตลอดจนในประเทศกลุ่มอาเซียนเช่น สิงคโปร์ เมียนมา ลาว มาเลเซีย ก็มีจำนวนมาก การนำนกมาผสมกันเพื่อให้ได้สีและเสียงที่ดี นอกจากจะทำให้นกไม่สูญพันธุ์แล้วก็ยังทำให้ราคานกสูงขึ้นอีกด้วย วันนี้เราจะเห็นว่าคนเลี้ยงนกเกิดขึ้นแทบทั่วทุกพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายใช้พื้นที่ไม่เยอะยิ่งหากมีดีกรีรางวัลจากหลายสนามค่าตัวนกจะสูงมากบางตัวมีราคาถึงหลักล้านบาท”

ขณะที่ เกษ ผ่องมะหึง หรือ ช่างเกษ ช่างทำกรงนกกรงหัวจุก กล่าวว่า ทำอาชีพทำกรงนกเป็นอาชีพเสริมแต่สร้างรายได้หลักจำนวนมากโดยความเชี่ยวชาญในการออกแบบลายส่วนหนึ่งได้มาจากการสืบทอดจากพ่อและก็นำมาดัดแปลงเป็นลายของตัวเอง เช่น กรงนกลายพิเศษที่ราคาสูงที่สุดที่เคยทำก็ราคาหลักแสนบาท โดยระยะเวลาในการทำก็ประมาณ 2 เดือนต่อ 1 กรง ความพิเศษคือใช้ หอยมุก ในการฉลุลายซึ่งลายที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคือลายทีมชาติลิเวอร์พูล ปัจจุบันขายให้กับคนรู้จักไปแล้ว ในราคาหลายแสนบาท

“ผมทำกรงนกกรงหัวจุก แต่ละลูกราคาแตกต่างกันตามลวดลายและความยากง่ายของกรง อีกทั้งราคาก็ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ ส่วนใหญ่หากเป็นลายที่ทำยากและพิเศษเช่นมีใบเดียวในโลกลูกค้าก็ซื้อจะซื้อไปเก็บ ราคาก็ตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท ซึ่งผมคิดว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายิได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวหากอนาคตมีการปลดล็อกนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ ก็จะทำให้รายได้และอาชีพนี้มั่นคงมากยิ่งขึ้น”

ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวเสริมถึงแนวทางการในการปลดล็อคนกปรอทหัวโขน ด้วยว่า เราต้องตอบให้ได้ว่าเรากลัวอะไร กลัวนกจะสูญพันธุ์ หรือกลัวนกป่าจะหายไป หากเราตอบคำถามนี้ได้ ก็จะเดินหน้าในการปลดล็อกได้ โดยใช้โมเดลของนกเขาชวา ที่เมื่อครั้งอดีตก็เคยขับเคลื่อนจนสามารถปลดล็อกได้และกลายเป็นสัตว์ที่สร้างรายได้ให้ประชาชน

“ปัจจุบันนกเขาชวาก็ไม่เคยสูญพันธุ์ เพราะชาวนกช่วยกันอนุรักษ์เพาะพันธุ์ จนกลายเป็นซอฟพาวเวอร์ ส่งขายต่างประเทศได้ เช่นเดียวกันกับนกกรงหัวจุกหากปลดล็อกได้ เราก็จะสามารถส่งออกได้เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศ เลี้ยงนกกรงหัวจุกและมีเวทีการแข่งขันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง อีกทั้งหากเราสนับสนุนให้มีการเพาะพันธุ์นกกรงเราก็จะได้สายพันธุ์นกทั้งสีและเสียงที่ดี สร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับนกทั้ง คนเลี้ยงหนอนนก กล้วยหิน คนทำกรงนก และอุปกรณ์นกอีกมหาศาล สุดท้ายแล้วประเทศไทยเราก็จะมีแต่ได้มากกว่าเสียแน่นอน”

ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายภาคส่วนได้ร่วมกันผลักดันการถอดบัญชีนกปรอดหัวโขน นกกรงหัวจุก ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า