Funding Societies แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลแบบครบวงจรสำหรับธุรกิจ SME ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศยุทธศาสตร์ส่งสินเชื่อเพื่อการค้าแบบ B2B ที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันรุก 4 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค (FMCG) ผู้รับเหมาโครงการภาครัฐฯ และ ธุรกิจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หลังเล็งเทรนด์ขาขึ้น มีดีมานด์ดี ศักยภาพในการเติบโตสูง โดยตั้งเป้าสินเชื่อธุรกิจกลุ่มนี้จะมีอัตราเติบโตที่ 20 % ของพอร์ต คาดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อปล่อยใหม่กว่า 400 ล้านบาท ในช่วง 1 ปีข้างหน้า
เอื้ออารีย์ อัจฉริยบุญ Country Head ประจำ Funding Societies ประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวบ้างในบางช่วง แต่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง Funding Societies ภายใต้การให้บริการของ FS Capital Co., Ltd. ที่เชี่ยวชาญในการให้กู้ยืมโดยตรงแก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงยังคงมองวงจรความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SME ว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดการณ์การเติบโตของพอร์ตสินเชื่อโดยรวมจะอยู่ที่ 30% ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนร่วมจากการปล่อยสินเชื่อใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ Funding Societies เองที่ตอบโจทย์ความต้องการของ SME ได้ 360 องศา
“SME มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ คิดเป็นกว่า 95% ของธุรกิจทั้งประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่า 3.1 ล้านราย คิดเป็น 35.6 % ของ GDP โดยรวม มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นวัตกรรม การผลิต การดำเนินโครงการต่าง ๆ และการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่มี SME จำนวนมากกว่าครึ่งที่ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้จากสถาบันการเงินทั่วไปเนื่องด้วยเหตุผลหลากหลายประการ อาทิ การขาดการเดินบัญชีกับธนาคาร และการต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และสำหรับ SME ที่เป็นขนาดกลางขึ้นมาและดำเนินธุรกิจมาแล้วระยะเวลาหนึ่งก็อาจจะมีศักยภาพในการเสนอหลักฐานการเดินบัญชีที่เพียงพอ และเสนอหลักทรัพย์ในการค้ำประกันได้เป็นบางส่วนแต่ยังไม่ครอบคลุมจำนวนวงเงินสินเชื่อตามต้องการ และบ่อยครั้งต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อที่ผิดวัตถุประสงค์มาต่อยอดการดำเนินธุรกิจ เช่น สินเชื่อจากบัตรเครดิต หรือ สินเชื่อนอกระบบ ซึ่ง SME รายย่อยมีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนดังกล่าวมากกว่า 50% ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินที่สูง ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตเป็นไปอย่างยากลำบาก Funding Societies เล็งเห็นความสำคัญของ SME ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสในการแข่งขันที่เท่าเทียมแก่ผู้ประกอบการ เราจึงเดินหน้าสนับสนุน SME ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป เพื่อให้สามารถคว้าโอกาสในการเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
— เอื้ออารีย์ อัจฉริยบุญ Country Head ประจำ Funding Societies ประเทศไทย
“เรายังเล็งเห็นความต้องการที่มีความหลากหลายของ SME สินเชื่อเพียงประเภทเดียวจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างครบถ้วน Funding Societies จึงมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปสินเชื่อเพื่อการค้าต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งสินเชื่อจาก Funding Societies มาใน 5 รูปแบบ ได้แก่ สินเชื่อหมุนเวียนจากลูกหนี้การค้า (Invoice Financing) ซึ่ง SME สามารถนำบิลหรือใบแจ้งหนี้มาเปลี่ยนเป็นเงินหมุนเวียนทำงานใหม่ได้โดยไม่ต้องรอเครดิตเทอมจากคู่ค้า สินเชื่อใบสั่งซื้อ (PO Financing) เพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการล่วงหน้าไปยังซัพพลายเออร์ สินเชื่อธุรกิจโครงการ (Project Financing) สำหรับผู้รับเหมาจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐฯและเอกชนในการทำโครงการให้แล้วเสร็จ สินเชื่อระยะสั้น (Business Term Loan) หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ และสินเชื่อกลุ่ม Express สำหรับ SME ขนาดเล็กลงมาซึ่ง SME สามารถยื่นขอสินเชื่อ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเข้ามาที่สาขา ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่ง Funding Societies สามารถให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อ SME ได้ถึง 15 ล้านบาทต่อราย”
— เอื้ออารีย์ อัจฉริยบุญ Country Head ประจำ Funding Societies ประเทศไทย
ที่ผ่านมา Funding Societies ได้สนับสนุน SME ให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการค้าระยะสั้นในรูปแบบต่าง ๆ ใน 5 ตลาดหลัก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดย ณ ปัจจุบันได้ให้สินเชื่อไปแล้วกว่า 1.38 แสนล้านบาท รวมเป็นธุรกรรมมากกว่า 5 ล้านครั้งให้กับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) ทั่วทั้งภูมิภาค