‘พีระพันธุ์’ จัดฉากโชว์ แก้สัญญาซื้อไฟ RE

22 พ.ค. 2568 - 05:47

  • รัฐมนตรีพลังงานเรียกหารือเรื่องลดต้นทุนค่าไฟอีกครั้ง

  • คุยเรื่องเดิม ที่ไม่มีความคืบหน้าหรือแนวทางปฎิบัติจริง

  • ได้ข้อสรุปกลับไปศึกษาต่ออีกครั้ง

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้เปิดเผยถึงการร่วมหารือกับ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100) และคณะตัวแทนสมาคมฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบมีค่า Adder และ Feed-in Tariff (FiT) ที่ต้องจ่ายให้กับกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและเล็กมาก (Non-Firm SPP) แบบไม่มีวันหมดอายุสัญญา หรือที่เรียกกันว่า ‘สัญญาชั่วนิรันดร์’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

ทั้งนี้ ระบบ Adder และ Feed-in Tariff เป็นนโยบายที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุน หรือให้เงินส่วนเพิ่มจากอัตราค่าไฟปกติแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้มาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น  โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถต่อสัญญาขายไฟฟ้าได้เรื่อย ๆ ครั้งละ 5 ปี และต่อเนื่องโดยอัตโนมัติแบบไม่มีวันหมดอายุสัญญา ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2550  ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระและทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

ในการหารือครั้งนี้  ทางกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กในส่วนของสมาคมฯ ได้อธิบายถึงปัญหาข้อขัดข้องในอดีตซึ่งเป็นที่มาของสัญญาดังกล่าว  อีกทั้งยังได้รับทราบและเห็นด้วยกับแนวทางที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการในการปรับเปลี่ยนสัญญาให้ถูกต้องและเป็นธรรม โดยนายพีระพันธุ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการกำหนดอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Non-Firm เพื่อลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และได้กำชับให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวเร่งดำเนินการพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการพยายามแก้ปัญหาระบบ Adder และ Feed-in Tariff ที่สะสมมานาน  โดยทางสมาคมฯ ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะลดผลกระทบที่มีต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

แนวทางการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่เรื่องใหม่  เมื่อต้นปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เคยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนสัญญาเหล่านี้ ในเรื่อง การจ่ายค่า adder /FIT และการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติ ทุกๆ5 ปี ซึ่งจะทำให้ลดค่าลงได้ทันทีหน่วยละ 17 สตางค์

อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ไม่เห็นด้วย และสั่งให้ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ถอนข้อเสนอนี้ออกไป โดยอ้างว่าอาจถูกคู่สัญญาฟ้องร้องได้

ดังนั้นการหารือกับตัวแทนสมาคมพลังงานหมุนเวียนครั้งนี้ จึงยังไม่ชัดเจนว่า จะนำไปสู่การแก้ไขสัญญา หรือเป็นเพียงการหารือ ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์