ข้อมูลตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก ช่วง 10 เดือน (มกราคม - ตุลาคม 2567) พบว่าประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก มีมูลค่ารวม 2,146,745 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.49 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อปี พ.ศ. 2566 โดยสินค้าด้านการเกษตรที่มูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก
- ข้าว มูลค่า 168,685 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 39.24
- ทุเรียนสด มูลค่า 130,352 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.57
- ยางธรรมชาติ มูลค่า 95,927 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 54.33
- ไก่แปรรูป มูลค่า 87,009 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.75
- อาหารสุนัขหรือแมว มูลค่า 79,071 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 35.45
สำหรับประเทศคู่ค้าที่ประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าเกษตรไปมากที่สุด 5 อันแรก
- จีน
- อาเซียน
- สหรัฐอเมริกา
- ญี่ปุ่น
- สหภาพยุโรป
สำหรับแนวโน้มการค้าสินค้าเกษตรกรของประเทศไทยในช่วง 10 เดือน ในภาพรวมถือว่าสินค้าเกษตรยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก แต่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลาย เช่น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ นโยบายสีเขียวและความยั่งยืน และนโยบาย “Make America Great Again” ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของประเทศไทย
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก โดยให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อต้องกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก เร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า โดยไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ตลอดจนพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยประไทยเร่งดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หลายฉบับ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและช่วยส่งเสริมการเติบโตของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก