การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดตรังเป็นเจ้าภาพ โดยมีตัวแทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทุกจังหวัดเข้าร่วม
โสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ มีหลายวาระสำคัญเสนอพิจารณาและขอความเห็น เช่น ขอความเห็นชอบให้ผลักดันการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเทียบเรือลอยน้ำบริเวณเกาะกระดาน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ผลักดันขับเคลื่อนการออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามันระยะสอง ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมเส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง

“การประชุมนัดนี้มีหลายวาระที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะความก้าวหน้าการดำเนินงานตามความต้องการของพื้นที่ และนโยบายเร่งด่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อคราวประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและตัวแทนภาคเอกชนกับผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เช่น โครงการพัฒนาโครงข่ายระบบระบบคมนาคม ทางถนน ทางราง ทางน้ำและอากาศในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภาคใต้อันดามัน”
ที่ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัดอันดามัน ยังได้ชี้แจงความคืบหน้าในด้านคมนาคมทางบก เช่น ถนนส่งเสริมการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน แผนแม่บท MR-MAP โครงการสำคัญการพัฒนารถไฟทางสายใหม่ รถไฟทางคู่ในพื้นที่ภาคใต้และรถไฟสายใหม่ การพัฒนารถไฟทางคู่จากหัวหิน-จังหวัดชุมพร
อีกวาระการประชุมที่หารือในมิติการพัฒนาทางน้ำ คือ 1.สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง 2.โครงการพัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามันประกอบด้วย(พังงา-กระบี่-ภูเก็ต) 3.โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 4.โครงการมาริน่าไทม์และมารีน่าชุมชน
สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ตัวแทน สนข.ระบุว่า ศึกษามาตั้งแต่ปี 2564 โดยดำเนินการตามมติครม.และในปี 2567 ได้รับจัดสรรงบประมาณในการศึกษาเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน

ทางอากาศ ที่ประชุมชี้แจงว่า จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานระนอง การต่อความยาวทางวิ่งอากาศยานทางขับพร้อมระบบไฟสนามบิน งบประมาณปี 2566 ถึง 2569 วงเงินลงทุน 596 ล้านบาทโครงการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารปีงบประมาณ 2569 ถึง 2570 งบ 100 ล้านบาท
ส่วนโครงการ และโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ปีงบประมาณ 2571 ถึง 2573 วงเงิน 1,600 ล้านบาท การพัฒนาอากาศยานภูเก็ตระยะที่สอง งานก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารที่พักผู้โดยสารระหว่างประเทศ การก่อสร้างลานจอดอากาศยานและลานจอดGSE และงานปรับปรุงระบบสาธารณูปโภควงเงินลงทุน 6,211 ล้านบาท สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 18 ล้านคนต่อปี
การพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ มีการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 และงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ2 วงเงินลงทุนก่อสร้าง 2,980 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2568 งานการก่อสร้างทางขับขนานพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินวงเงินลงทุน 978 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2568 และการพัฒนาท่าอากาศยานตรัง มีการดำเนินการงบปี 2562 ถึง 2567รองรับผู้โดยสารได้ 3.4 ล้านคนต่อปี มีการลงทุน 1,118 ล้านบาท


พรศักดิ์ แก้วถาวร ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันเมียนมา มีการขนส่งมีปัญหาในการขนส่งสินค้าเข้ามาตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงระนอง ปรากฏว่าในขณะนี้ด่านที่มีความสะดวกที่สุดคือ ระนอง โดยผ่านทางเรือสินค้านำเข้า ส่วนสินค้าจากประเทศไทยส่งออกไปยังประเทศเมียนมา ก็ต้องผ่านทางท่าเรือระนอง ทำให้ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“ซึ่งได้แต่ละปีที่ผ่านมา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านด่านระนองเพียง 50,000 ตันเท่านั้น แต่ในปี 2567 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งผ่านท่าเรือระนองกว่า 400,000 ตัน ส่วนปี 2568 ตั้งแต่กุมภาพันธ์เป็นต้นไป สำนักงานพาณิชย์จังหวัดระนอง ประมาณการว่า จะสูงถึง 1 ล้านตัน ส่วนโครงการที่ สนข.ขอเคยศึกษาเส้นทางขนส่งระบบรางไว้ คือ เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 106 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันชะลอโครงการเพราะไปศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ขึ้นมาทดแทน กรอ.ระนอง จึงขอให้ทบทวนและนำโครงการกลับขึ้นมาสานต่อใหม่ โดยให้ศึกษาควบคู่กับโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย”

ประธานหอการค้า จ.ระนอง ยังระบุด้วยว่า ไม่เพียงแต่ประเทศเมียนมาเท่านั้น ที่สนใจทำการค้าส่งสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านท่าเรือระนอง ล่าสุดยังมีบังกลาเทศและอินเดีย ซึ่งเมื่อ 2-3เดือนที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตประเทศเหล่านี้ได้เข้ามาเจรจาทางด้านการค้า ที่จะขนส่งสินค้าเข้าออกผ่านท่าเรือระนองอีกด้วย
