อดิศร ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง ส่งออกไปยังประเทศปลายทางผู้ซื้อหลักคือ จีน มีอัตราเติบโตขึ้น ปี 2566 มูลค่าอยู่ที่ 39,000 ล้านบาท ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง30 กันยายน 2567 มูลค่า 36,000 ล้านบาท จะพบว่าในปี 2567 นั้นมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“ในปี 2568 ตัวเลขที่สภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท จีนและเวียดนามเป็นลูกค้าหลัก ซื้อไม้ยางพาราจากประเทศไทยไปเพื่อการผลิตเฟอร์นิเจอร์ แนวโน้มที่ทำให้ราคาไม้ยางพาราอยู่ในระดับที่ดี ผู้ประกอบการสามารถผลิตและขายกับประเทศผู้ซื้อได้นั้นมาจากโบรกเกอร์ประเทศจีน ไม่มีไม้ยางพาราแปรรูปในสต๊อก เพราะรัฐบาลจีนเข้มงวดเรื่องจัดเก็บภาษี ดังนั้นโบรกเกอร์ที่เลี่ยงภาษี อยู่ไม่ได้ ผู้ประกอบการโรงงานเฟอร์นิเจอร์จีน จึงหันมาซื้อไม้ยางพาราแปรรูปโดยตรงกับผู้ผลิตไม้ยางแปรรูปในไทยมาเกือบ 2 ปี ราคาไม้ยางจึงอยู่ระดับที่ดี เฉลี่ยขาย ลูกบาศก์เมตรละ 530 ดอลลาร์สหรัฐ”

ในประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปไม้ยางพารากว่า 500 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคใต้กว่า 300 โรง ส่วนการรับซื้อไม้ยางพาราจากเกษตรกรเจ้าของสวนยาง โรงงานใน จ.ตรัง รับซื้อจะอยู่ที่ตันละ 1,900 บาท ถึงตันละ 2,200 บาท
อดิศร กล่าวอีกว่า ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการกลุ่มโรงเลื่อยและกลุ่มธุรกิจยางอบแห้งและน้ำยาง ได้เสนอแนะว่า ควรจะมีท่าเรือน้ำลึกในฝั่งอันดามัน เพื่อส่งออกนำเข้าสินค้า

“เคยมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูด เวที กรอ. สภาอุตสาหกรรม และเวทีอื่นๆ ซึ่งพื้นที่เหมาะสมจะสร้างท่าเรือน้ำลึก เช่น จ.กระบี่ มีร่องน้ำลึก เรือขนาดใหญ่เข้าออกได้ทั้งปี แต่ไม่เอื้ออำนวยเนื่องมาจากกระบี่มีธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต หากมีท่าเรือน้ำลึกอาจเป็นอุปสรรค ปัญหารถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้าออกยังไม่มีความเหมาะสม ภูเก็ตมีท่าเรือน้ำลึก แต่ก็ประสบปัญหารถติดพอๆ กับกรุงเทพ รถบรรทุกต้องวิ่งผ่านเมืองไปลงท่าเรือ อีกทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยว ส่วนสตูลมีความเหมาะสมเรื่องของพื้นที่ มีร่องน้ำลึก พื้นที่เหมาะสม แต่ชาวบ้านออกมาต่อต้านไม่ยอมรับท่าเรือน้ำลึกซึ่งก็ขาดโอกาสที่ดี”
ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ยังระบุอีกว่า ควรเร่งพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางเรือไปยังประเทศผู้ซื้อ รวมทั้งเป็นพอร์ตรับระบายสินค้าเข้ามายังประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการในพื้นที่อันดามันหรือภาคใต้ จะใช้ท่าเรือตัวหลัก คือ พอร์ตปีนัง หรือท่าเรือปีนังของมาเลเซีย โดยสินค้าทั้งหมดจะรวมตู้อยู่ที่ด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลาก่อนที่จะให้รถบรรทุกหรือรถไฟขนส่งตู้สินค้าไปยังท่าเรือปีนัง เพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้ซื้อ คือ จีน เวียดนาม เกาหลี
“ส่วนสินค้าที่ออกจากจังหวัดตรัง มีอยู่ 3 เส้นทาง เส้นทางแรกจากท่าเรือกันตังไปท่าเรือปีนังส่งไปประเทศผู้ซื้อ เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางรถยนต์วิ่งจากโรงงานพื้นที่จังหวัดตรัง ไปยังด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา จากนั้นรถบรรทุกขนส่งของมาเลเซียจะลำเลียงต่อไปยังท่าเรือปีนัง เส้นทางที่ 3 เป็นเส้นทางรถไฟ ตู้สินค้าจากสถานีรถไฟกันตัง วิ่งผ่านชุมทางสถานีรถไฟทุ่งสง วิ่งเข้าไปยังด่านปาดังเบซาร์ แล้วเปลี่ยนหัวรถจักรลากเข้าไปยังท่าเรือปีนัง แล้วส่งไปยังประเทศผู้ซื้อ การขนส่งตู้สินค้าจาก จ.ตรัง ไปยังประเทศผู้ซื้อ เส้นทางท่าเรือใช้เวลาขนส่งสินค้า 4 สัปดาห์ เป็นเส้นทางที่ประหยัดค่าขนส่งไปได้มาก แต่เสียเวลาไป 1 สัปดาห์ ส่วนอีก 2 เส้นทาง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูง แต่ใช้เวลาสั้นลงเหลือ 3 สัปดาห์”


พื้นที่ภาคใต้ของไทย ส่งออกตู้สินค้าไม้ยางพาราไปยังท่าเรือปีนังเฉลี่ยปีละ 500,000 ตู้ ขนาด 40 ฟุต ผู้ประกอบการยังนิยมที่จะส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือปีนัง เพราะสามารถใส่สินค้าได้สูงถึง 32 ตัน ในขณะที่ท่าเรือสงขลาจำกัดน้ำหนักอยู่ที่ 28 ตันเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะใช้บริการท่าเรือปีนังของมาเลเซียมากกว่า
ผู้ประกอบการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ในจีน ยังต้องการไม้ยางพารายังเป็นวัตถุดิบที่มีความสำคัญในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ขณะนี้การส่งออกไม้ยางพารา อยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 530 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่ประกอบการอยู่ได้ ในขณะที่โรงงานแปรรูปไม้ยาง การรับซื้อไม้หน้าโรงงาน อยู่ที่ตันละ 1,900 ถึง 2,200 บาท
ดังนั้นผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางพารายังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้เพราะมีจุดแข็ง คือ 1.ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในจีน ซื้อไม้ตรงกับโรงงานแปรรูปในไทย ราคาอยู่ในระดับที่ดี 2.จีนยังต้องการไม้ยางเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตัวอื่น ๆ 3.ไทยผลิตไม้ยางพาราได้มาก ทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากจีนและเวียดนาม 4.เกษตรกรยังนิยมปลูกยางเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ขายได้ทั้งน้ำยางและไม้ยาง

อดิศร ยังกล่าวว่าอีกว่า ในส่วนคำถามที่ว่าทำไมประเทศไทยมีวัตถุดิบคือไม้ยางพาราจำนวนมาก แต่ไม่ตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมาขายและส่งออกไปยังต่างประเทศเหมือนกับจีน จากข้อเท็จจริงกว่า 20 ปี พบว่าผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ในประเทศจีน มีความเข้มแข็งและมีจุดแข็งหลายอย่าง เช่น ฝีมือแรงงาน เทคโนโลยีสมัยใหม่ เครื่องจักรมีประสิทธิภาพ การผลิตของแรงงานหากเปรียบเทียบแรงงานไทย 4 คน ทำงานเท่ากับคนจีนเพียง 1 คน ประสิทธิภาพการทำงานยังแตกต่างกันมาก
“รัฐบาลจีนยังช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ภาษีที่ช่วยซัพพอร์ตถึง 17% แม้จีนจะโดนกำแพงภาษีจากสหรัฐและยุโรป แต่ยังสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ เพราะสามารถผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ รัฐบาลช่วยเรื่องภาษีจึงรอดพ้นวิกฤตมาได้ ล่าสุดพบว่านักลงทุนของจีนได้หันไปลงทุนในเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงของภาษีและมาตรการกีดกันจากประเทศผู้ซื้ออีกด้วย”
ประเทศไทยยังมีจุดอ่อนในการที่จะตั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก 1.รัฐบาลไทยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องภาษีสำหรับผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งออก มาตรการช่วยเหลือของ BOI ยังไม่เพียงพอ เพราะเฟอร์นิเจอร์เป็นการผลิตที่มีหลายขั้นตอน ใช้เวลานาน ทำให้ใช้วัตถุดิบอื่น ๆ มาก ใช้แรงงานระยะยาว สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนเพิ่มมากขึ้น
2.เครื่องจักร เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไทยยังตามหลังประเทศจีน 3.ขาดแรงงานมีฝีมือที่จะทำเฟอร์นิเจอร์ได้รวดเร็วและสวยงาม 4.ยังไม่สามารถที่จะลดต้นทุนการผลิตลงได้ และ 5.การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ยังไม่ทันสมัยเหมือนกับของประเทศจีน


ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า มาตรการของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐ หันมาพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนและอีกหลายประเทศ แต่ไทยอาจได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องวางแผนตั้งรับและรับมือให้ดีกว่านี้ และช่วยผลักดันภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันและผลิตการส่งสินค้าส่งออกไปประเทศต่างๆได้มากขึ้น