จากกรณีที่แม่น้ำกกพบการปนเปื้อนของสารหนู ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลใจและส่งผลต่อกระทบในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในประเด็นที่เริ่มมีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้คือ ความผิดปกติของปลาแม่น้ำกก รวมถึงแม่น้ำโขง มีลักษณะติดเชื้อมีตุ่มพุพอง ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้คือ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ที่บอกเล่าเรื่องราวว่า มีชาวประมงจับได้ปลาแค้ขนาดเล็กได้ในแม่น้ำโขง บริเวณหาดฮ่อน ท่าน้ำหน้าโฮงเฮียนแม่น้ำของ และมีความผิดปกติพบตุ่มพุพองตามครีบ กระโดงหลังและหางคล้ายกับมีการติดเชื้อโรค


โดยสภาพปลาแค้ที่พบในแม่น้ำกก แสดงให้เห็นปัญหาการติดเชื้อของปลาได้กระจายมากขึ้น ซึ่งเขาได้สันนิษฐานว่า ปลาแค้เป็นปลาหากินบริเวณผิวดินใต้ท้องน้ำ จึงได้รับผลกระทบมากกว่าปลาชนิดอื่น และตลอดเดือนพฤษภาคมก็เจอปลาที่มีลักษณะติดเชื้ออยู่เป็นช่วง ๆ ทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา(น้ำกก-น้ำสาย)


ทีมข่าว Spacebar ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ข้อมูลว่า สารหนู เป็นโลหะกึ่งโลหะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีความเป็นพิษสูง รวมทั้งสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน

“ผลกระทบของสารหนูต่อปลาทั้งในด้านสรีรวิทยา พฤติกรรม และผลกระทบทางระบบนิเวศ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยทางวิชาการและกรณีศึกษาจริงจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเน้นย้ำถึงอันตรายจากสารหนูต่อระบบนิเวศน้ำจืด และความจำเป็นในการติดตามและควบคุมการปนเปื้อน สารหนูเป็นอันตรายต่อปลา โดยทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ รบกวนกระบวนการเมแทบอลิซึม และเป็นพิษต่อยีน”
สารหนูเป็นธาตุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยสามารถอยู่ในรูปแบบอินทรีย์และอนินทรีย์ ซึ่งรูปแบบอนินทรีย์จะเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตมากกว่า เมื่อเข้าสู่แหล่งน้ำสารหนูสามารถสะสมในตัวปลานำไปสู่ผลกระทบทางชีวภาพที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์ผ่านห่วงโซ่อาหารได้ ทำให้สารหนูเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อปลาและระบบนิเวศน้ำ โดยมีผลกระทบทั้งในระดับเซลล์ การทำงานของอวัยวะ ระบบฮอร์โมน การสืบพันธุ์ และภูมิคุ้มกัน
“กรณีศึกษาจากหลายประเทศแสดงให้เห็นถึงผลกระทบในชีวิตจริง ซึ่งมีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังสารหนูในแหล่งน้ำและดำเนินมาตรการควบคุมอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องทั้งระบบนิเวศและสุขภาวะของมนุษย์ในระยะยาว”
รศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า สารอันตรายบางชนิดที่พบจากกิจกรรมเหมืองแร่อย่างสารหนู มาจากน้ำทิ้งเหมือง กระทบสิ่งแวดล้อมคือปลาเป็นแผลที่เหงือก,มะเร็งในสัตว์น้ำ ,สารปรอท มาจากเหมืองทองคำ จะทำให้สะสมในห่วงโซ่อาหาร ทำลายระบบประสาทปลา ,ตะกั่ว มาจากการหลอมแร่ มีผลทำลายไตปลา ยับยั้งการเจริญเติบโต
ในส่วนของผลกระทบทางนิเวศและสุขภาพมนุษย์มีหลากหลายมิติ การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากปลาเป็นสัตว์ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งหากมีการสะสมสารหนู จะสามารถถ่ายทอดต่อไปยังสัตว์นักล่าและมนุษย์ที่บริโภคปลา


จำนวนประชากรปลาลดลง เพราะการสืบพันธุ์ลดลงและการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ส่งผลให้จำนวนปลาลดลง และอาจกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่งผลถึงประชาชนที่มีอาชีพประมง อาจประสบปัญหารายได้ลดลงจากการลดลงของปริมาณปลาที่จับได้
ขณะที่ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า แม้ว่าสำนักงานประมงจังหวัดเชียงรายได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่า ปลาที่พบนั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เมื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจหาสารปนเปื้อนแล้วไม่พบโลหะหนัก ไม่ว่าจะเป็นสารหนู หรือสารปรอท แต่ก็ต้องติดตามกันต่อไป แสดงให้เห็นว่า ยังมีความไม่แน่นอน เพราะแม้ว่าวันนี้ยังตรวจสอบไม่พบ แต่ไม่ได้หมายความว่าวันพรุ่งนี้หรือในอนาคตจะไม่มี เนื่องจากโลหะหนักหรือสารหนูที่เป็นอันตรายเหล่านี้มันค่อย ๆ สะสมเพิ่มมากขึ้นเพราะเหมืองก็ดำเนินการอยู่ทุกวัน

“คิดว่าจากข้อมูลที่พบว่าในแม่น้ำสายหลักหลายสายของจังหวัดเชียงราย มีการปนเปื้อนสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและอาจจะส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำอย่างปลา ก็จะทำให้คนที่บริโภคปลาในแม่น้ำเหล่านี้มีความกังวลใจและรู้สึกไม่มั่นใจเหมือนแต่ก่อนแล้ว ดังนั้นเรื่องของปลาเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องและต้องเร่งตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เรามีการตรวจสอบน้ำกับตะกอนดินอยู่เป็นระยะ แต่ในภาคของเกษตรกรรมและประมง ยังไม่มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ชาวบ้านก็เริ่มตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงปัญหานี้ แต่วิถีชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปด้วยความไม่มั่นใจ”


“ส่วนตัวมองว่าแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำโขง หากเปรียบเป็นคน คือ ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ที่อาการกำลังแย่ลง ถ้าไม่แก้ประชาชนอาจจะเป็นมะเร็งตามแม่น้ำ การแก้ปัญหามีอยู่สองทางคือปรับปรุงเหมืองให้มีมาตรฐานสากล แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนและแม่น้ำกลับมาเหมือนเดิม คือปิดเหมืองไปเลย”