พบ ‘สารหนู’ สูงเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก

5 เม.ย. 2568 - 05:24

  • ผลตรวจพบสารหนูในแม่น้ำกก ที่ไหลจากเมียนมา

  • ผ่านเข้าสู่พื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ สูงเกินค่ามาตรฐานกว่าเท่าตัว

  • คาดเกิดจากการทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา

economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Hero.jpg

สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เข้าตรวจคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก ที่ไหลมาจากต้นน้ำในฝั่งประเทศเมียนมา เข้าสู่พื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากพบว่า น้ำมีสีขุ่นคล้ายกับมีตะกอนดินปนเปื้อนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ทุกปีที่ผ่านมาในช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำกก จะใสไม่มีตะกอนดินเหมือนกับช่วงฤดูน้ำหลาก และมีประชาชนที่ลงไปเล่นน้ำแล้วเกิดผื่นแดง ซึ่งทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำในแม่กกตามจุดต่าง ๆ มาตรวจสอบ

economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Photo02.jpg

อาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลการสุ่มตรวจแม่น้ำกก พบว่าน้ำมีสีขุ่นเกินค่าปกติเกือบ 10 เท่า ที่สำคัญผลการตรวจวิเคราะห์พบ สารหนู หรือ Arsenic ซึ่งเป็นสารพิษอันตรายเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกกว่าเท่าตัว ซึ่งปกติค่ามาตรฐานอยู่ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ตัวอย่างน้ำในแม่น้ำกก บริเวณบ้านแก่งตุ้ม อำเภอแม่อาย ซึ่งจุดแรกที่แม่น้ำกกไหลเข้าเขตประเทศไทย พบค่าสารหนู สูงถึง 0.026 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงทำให้ประชาชนที่ลงไปเล่นน้ำเกิดอาการแพ้ ระคายเคือง มีผื่นคัน ในระยะยาวหากได้รับต่อเนื่องอาจเป็นมะเร็งได้ และหากดื่มน้ำที่มีสารหนูเข้าไปก็จะส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการทางเคมีในร่างกายผิดเพี้ยน ถ้ารับไปนิดหน่อยอาจทำให้ท้องร่วง ท้องเสียได้ เมื่อสะสมระยะยาวอาจเป็นมะเร็งเช่นกัน ส่วนผลตรวจตัวอย่างน้ำในแม่น้ำกกจุดอื่นๆ อาทิ ที่บริเวณบ้านท่าตอน พบสารหนูปนเปื้อน 0.012 มิลลิกรัมต่อลิตรและบริเวณบ้านผาใต้ อยู่ในระดับ 0.013 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด ขณะนี้ยังรอผลตรวจตะกอนดินใต้น้ำ เพราะเชื่อว่าโลหะหนักจะจมอยู่ด้านล่าง 

นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างน้ำในลำน้ำกกในเขตตัวเมือเชียงรายอีก 3 จุด ไปตรวจสารปน ซึ่งจะทราบผลใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังถ้าไม่จำเป็นอย่าลงเล่นในแม่น้ำ อย่าเผลอรับประทานน้ำจากแม่น้ำโดยตรง รวมถึงเป็นห่วงระบบการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านที่ใช้น้ำในแม่น้ำกกเป็นแหล่งน้ำดิบ อาจจะไม่ปลอดภัยเพราะระบบกรองมีมาตรฐานต่ำ

อย่างไรก็ตาม คาดว่า สารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเชื่อมโยงกับการทำเหมืองแร่ทองคำต้นแม่น้ำกก ในเขตประเทศเมียนมา เพราะเเร่ทองคำจะมีสารหนูปะปนอยู่ เมื่อขุดแร่ขึ้นมาก็จะจัดการแร่พวกนี้ออก ในทางเคมีเรียกว่า “เพื่อนแร่” ตามหลักวิทยาศาสตร์สารแร่ทองคำมีองค์ประกอบสารหนูให้เเร่ทองคำเสถียร

economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Photo03.jpg
economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Photo04.jpg

ด้าน บุญโรจน์ กองแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ชาวบ้านในพื้นที่ มีความกังวลอย่างมาก เพราะเป็นช่วงใกล้เทศกลานสงกรานต์ ประกอบกับ แม่น้ำกก ยังเป็นแม่น้ำสำคัญ ของชาวตำบลท่าตอน ทั้งใช้ในพื้นที่ทำการเกษตร และ ใช้อุปโภค จนทำให้ ปัจจุบันนี้ ไม่มีชาวบ้าน กล้าลงไปสัมผัสกับน้ำ และบรรยากาศริมแม่น้ำกก เป็นไปอย่างเงียบเหงา ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุที่มีสารหนูในน้ำกกน่าจะมีสาเหตุมาจากเหมืองทอง ในประเทศเมียนมา แต่เราไม่มีข้อมูลเลยว่า มีการทำเหมืองทองกี่แห่งในพื้นที่ต้นน้ำ ทำองค์กรปกครองส่วนท่องถิ่นทำได้เพียง แจ้งเตือนชาวบ้าน เพื่อป้องกันตนเอง ส่วนการแก้ปัญหา จะต้องมีการรวบรวมรายชื่อชาวบ้านทีได้รับผลกระทบ ส่งไปตามหน่วยงานเพื่อประสานไปยังรัฐบาล เพราะเชื่อว่าเกินอำนาจหน้าที่ ของระดับจังหวัดจะทำได้

เมื่อก่อนเราทำป้ายเตือนแต่เรื่องน้ำลึกและเขตอันตรายในแม่น้ำกก ต้องเตือนสารปนเปื้อนด้วย ตอนนี้กำลังรอฟังความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ให้เราปฎิบัติอย่างไร เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบหลายด้าน

economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Photo05.jpg
economic-business-thai-arsenic-levels-excee-kok-river-SPACEBAR-Photo01.jpg

ขณะที่ สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่มีสารหนูปนเปื้อนเป็นจำนวนมากเกินกว่ามาตราฐานนั้น ทางฝ่ายบริหารส่วนท้องถิ่น ระหว่างรัฐต่อรัฐควรจะต้องมีการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเชิญฝ่ายบริหารของรัฐว้าที่เป็นเจ้าของพื้นที่เหมืองทอง ที่อยู่ต้นแม่น้ำกก และอาจจะต้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวแทนในการพูดคุย เพื่อหาทางออก โดยใช้แผนการปฏิบัติของกรมประมงของไทยเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราก็เข้าใจว่ารัฐว้าอยู่นอกเหนือกฎหมายของไทย แต่การใช้หลักการของกรมประมงในไทยอาจจะเป็นต้นแบบแล้วนำมาแก้ไขให้เหมาะกับทั้ง 2 ประเทศ เพื่อให้แม่น้ำกกกลับมามีสภาพที่ปลอดภัยกับคลลุ่มแม่น้ำ 

ในส่วนของการแจ้งเตือนเครือข่ายลุ่มแม่น้ำกก ที่มีทั้งชาวประมงท้องถิ่น กลุ่มเกษตรริมแม่น้ำ ที่อาศัยแม่น้ำกก ในการหาเลี้ยงชีพ ก็มีการพูดคุยและกำลังหาแนวทางในการปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์