ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด สุรพล โอภาสเสถียร ได้โพสต์เฟซบุ๊กเพจ รายงานภาวะหนี้สินครัวเรือนที่จัดเก็บข้อมูล ในระบบเครดิตบูโร สิ้นสุดไตรมาสที่ 1/2568 ซึ่งมีข้อมูลและเนื้อหาดังนี้
หนี้สินครัวเรือนในภาพใหญ่ของประเทศอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หนี้สินครัวเรือนที่มีการจัดเก็บในระบบเครดิตบูโรที่มาจากสถาบันการเงินกว่า 160 แห่งมีอยู่เท่ากับ 13.5 ล้านล้านบาท
หนี้เสีย,NPLs มีจำนวน 1.19 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2568 จำนวน 3 หมื่นล้านบาท หนี้เสียนี้ครอบคลุมจำนวนลูกหนี้ 5.15 ล้านคน, 9.13ล้านบัญชี
เจาะลงมาในหนี้เสียตั้งแต่ 1 แสนบาทลงมาพบว่า มีอยู่เป็นจำนวนเงิน 1.2 แสนล้านบาทหรือประมาณ 10% ของยอดหนี้เสียนั้นครอบคลุมจำนวนรายของคนที่เป็นลูกหนี้ 3.28 ล้านคน, 4.44ล้านบัญชี
ถ้าเรามีมาตรการแก้หนี้ตรงนี้แบบเบ็ดเสร็จ ก็จะช่วยคนได้เป็นจำนวนหลายล้านคน หนี้ส่วนใหญ่คือ หนี้ไม่มีหลักประกัน, เจ้าหนี้มีการกันสำรองเต็มร้อยไปแล้วตามมาตรฐาน การบัญชี ที่สำคัญคือเจ้าหนี้ติดต่อไม่ค่อยจะได้ แต่ลูกหนี้เหล่านั้นยังอยู่ในสังคมเรา ยังมีชีวิต ยังดิ้นรน ฟันฝ่าอยู่ ช่วยเขาตรงนี้ให้กลับมาเป็นกำลังในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดีกว่าหรือไม่ ฟ้องร้องบังคับคดี 10ปีมันคุ้มหรือไม่
...นี่คือคำถาม แน่นอนครับท่านที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่ามันจะบ่มเพาะนิสัย, วัฒนธรรม เป็นหนี้ไม่ใช้หนี้ แต่ต้องเข้าใจความจริงของชีวิตในเศรษฐกิจยามนี้ว่า การเป็นหนี้เสีย ถูกตามหนี้เข้มข้น ถูกดำเนินคดี กู้เงินไม่ได้ มันคือการลงโทษในหลายปีมานี้ ไม่นับว่าช่วงโรคระบาดก็ไม่มีการรอลงอาญา น่าจะมีสัดส่วนกับความผิดหลงที่ไม่จ่ายหนี้ของมูลหนี้ต่ำกว่าแสนบาทหรือไม่ ขณะที่เจ้าหนี้ถ้าจะตัดสูญตัดใจก็ไม่น่าจะกระทบกำไรของท่านเท่าใดแล้ว
อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญก็น่าจะได้ประโยชน์ ทางภาษีอากรไปแล้วหรือไม่ อัตราเปอร์เซ็นต์ ในการขายทิ้งให้กับ AMC ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากมายอะไรหรือไม่
... เรา ๆ ท่าน ๆ ลองคิดดูนะกันครับ
หนี้กำลังจะเสียหรือ SM ก็อยู่ในระดับที่ 5.75 แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนก็อยู่ที่ 6.44 แสนล้านบาทลดลงมา yoy 10.8%
การเร่งปรับโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสียหรือทำ TDR นั้นมียอดคงค้าง 1.08 ล้านล้านบาทเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท YoY แทบไม่ขยับ
แต่การทำ DR หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน, การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนไหลมาไปเป็น NPLs.นั้นตอนนี้มาอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาทแล้ว ตัวเลขที่เพิ่ม QoQ. เพิ่มสูงถึง 31.7% สิ่งนี้มันสะท้อนได้บ้างว่า คนเป็นหนี้, ไปไม่ไหว, ผ่อนติดขัด เจ้าหนี้ถูกกติกาบังคับให้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ทำ DR.ตัวเลขมันขึ้นเร็วมากจากการรายงานครั้งแรกเมื่อเมษายน 2567 เขื่อนยักษ์ DR.มันจึงยกสูงกั้นการไหลมาเป็น NPLs.อย่างที่เห็นกัน
ประเด็นเล็กๆ คือ ลูกหนี้ที่ทำ DR แล้วผ่อนได้ตามสัญญา DR เขาคือคนที่มีแผล รบกับหนี้แล้วไม่ค่อยชนะ เขาควรได้ยาสมานแผลช่วยยี่ห้อ ‘คุณสู้ เราช่วย’ เพราะเขาสู้ไงครับ เขาไม่ยอมแพ้จนไหลไปเป็น NPLs. ทำไมเราไปมองว่า เขาผ่อนได้ดีแล้ว จึงไม่ให้เขาเข้าร่วมโครงการ คุณสู้ เราช่วย
อยากให้มีมือที่เมตตา ใจที่เป็นธรรม ลดลงมาช่วยกันตรงนี้ดีมั้ย มันรมณีย์กว่าการไปพูดเอาหล่อเอาสวยมั้ย เพราะตอนนี้โครงการที่ตั้งใจไว้มันยังห่างเป้าทั้งจำนวนราย จำนวนเงินไม่ใช่เหรอครับ เงินที่เตรียมมาช่วยก็เหลือบานนี่ครับ
จะเก็บถุงยังชีพ ห่วงยาง ยามเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเวลานี้ เพื่อให้หนูแทะในโกดังเอาไว้รอเหตุแผ่นดินพิโรธ ในครั้งหน้า... เพราะอะไร(ถามเป็นชื่อเพลงของพี่ป้าง จะได้ดูสุภาพเรียบร้อย)
สุดท้ายต้องขออภัยนะครับที่ไม่เขียนรายงานเป็นภาษาอังกฤษ หรือพูดไทยคำอังกฤษ คำตามวัฒนธรรม นิยมของท่าน ๆ นะครับ เรามันสำนึกตัวว่าเป็นเด็กบ้านนอกคอกนา ไม่ได้ร่ำเรียนสูงส่ง บ้านอยู่บนดอยครับ ไม่ได้อยู่บนหอคอย ก็ได้แต่โก่งคอขันเป็นไก่ทุกโมงยาม ที่ข้อมูล ใหม่ออกมา เผื่อเทวดาท่าน ๆ จะได้สดับตรับฟัง บ้าง..
รูปที่เหลือก็คือสิ่งสะกิดใจให้เราครวญ คิดคำนึงว่าเราทำอะไรกันอยู่..
การตัดสินใจไม่ทำอะไร, kick the can down the road, No Action Talk Only, มันคือนิยามของ moral hazard อย่างที่ท่านชอบพูดเหมือนกัน