เจาะ 10 เทรนด์เครื่องดื่มปี68 ตอบโจทย์ไปไกลได้ทุกตลาด

20 มี.ค. 2568 - 07:44

  • ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าถึง 3 เท่า ภายในปี 2570

  • ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์

  • กระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโต

economic_business_thai_beverage_industry_healthy_affordable_SPACEBAR_Hero_09417dd909.jpg

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ข้อมูลจาก Innova Market Insights1 หนึ่งในผู้นำด้านการวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก พบแนวโน้มตลาดสินค้าเครื่องดื่มที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความสดใหม่ คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์อย่างมาก (Ingredients and Beyond) ผู้บริโภคต้องการทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่บริโภคมีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยต่อสุขภาพ
  2. ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและโภชนาการเฉพาะบุคคล (Health – Precision Wellness) ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มเฉพาะบุคคล อาทิ การควบคุมและลดน้ำหนัก หรือการได้รับสารอาหารตามโภชนาการเฉพาะตัวในแต่ละช่วงอายุวัย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างถึงการจัดการปัญหาการควบคุมน้ำหนักและโภชนาการตามช่วงอายุวัยและไลฟ์สไตล์ มีการเติบโต 10% ต่อปี
  3. ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Wildly Inventive) ผู้บริโภค 43% มักมองหารสชาติใหม่ ๆ อยู่เสมอ และ 37% ติดตามเทรนด์เครื่องดื่มผ่านโซเชียลมีเดีย การเลือกใช้รสชาติของผลไม้ตามฤดูกาล การผสมผสานระหว่างเครื่องดื่มและของหวานเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง จากข้อมูลวิจัยพบว่า สินค้าดังกล่าวเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะสินค้ามีเอกลักษณ์ และสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้บริโภค 
  4. เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมช่วยฟื้นฟูลำไส้ (Gut Health – Flourish from Within) เช่น ไฟเบอร์ โปรไบโอติกส์ และวิตามิน เพื่อสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้และระบบย่อยอาหารเป็นเทรนด์เครื่องดื่มที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เติบโต 8% ต่อปี 
  5. ตลาดผลิตภัณฑ์จากพืช (Plant-Based – Rethinking Plants) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตลาด Plant-Based มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 23% และผู้บริโภคยังมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย
  6. การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน (Sustainability – Climate adaptation) การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศส่งผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผู้บริโภค 50% ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้แบรนด์ต้องปรับตัว เช่น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทดแทนสินค้าเดิม หรือการค้นหาวัตถุดิบทางเลือกที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่แปรปรวน 
  7. เครื่องดื่มเพื่อความงาม (Beauty Food – Taste the Glow) 1 ใน 5 ของผู้บริโภคทั่วโลกเลือกซื้อเครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องรูปลักษณ์ความงาม เช่น คอลลาเจน และวิตามิน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคนที่ต้องการฟื้นฟูผิวและชะลอวัย ให้ความสำคัญกับผิวหน้า ผม และผิวกาย เป็นสำคัญ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการเติบโตถึง 11% ต่อปี
  8. วัฒนธรรมทางอาหารและเครื่องดื่ม (Food Culture - Tradition Reinvented) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงอาหารและเครื่องดื่มกับวัฒนธรรม ความหลากหลายของรสชาติและวัตถุดิบท้องถิ่น รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สะท้อนความแตกต่างทางวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน อาทิ กลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ต้องการรสชาติที่คุ้นเคย และกลุ่มคนรุ่นใหม่/นักท่องเที่ยวที่ต้องการทดลองประสบการณ์ใหม่ในแต่ละท้องถิ่น โดยการทดลองชิมอาหารรสชาติใหม่ที่แตกต่างออกไป 
  9. เครื่องดื่มสำหรับสุขภาพจิต (Mood Food - Mindful Choices) ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภค 36% มองหาเครื่องดื่มที่ช่วยควบคุมอารมณ์และการนอนหลับ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามิน B6 B9 และ B12 เป็นส่วนผสมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากวิตามินเหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของสมองและระบบประสาท
  10. การเข้ามามีบทบาทของ AI (AI – Bytes to Bites) การนำ AI มาใช้ในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การเลือกวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพ บริษัทต่าง ๆ ใช้ AI เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ

“เทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มปีนี้เป็นที่น่าจับตามอง อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังคงเติบโตต่อเนื่อง ผู้บริโภคมองหาทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและบริโภคได้ทุกโอกาส ที่สำคัญผู้บริโภคยุคใหม่เปรียบเทียบคุณภาพ ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ความซื่อสัตย์และความโปร่งใสของบริษัทแลกกับราคาที่จ่าย ผู้บริโภคยอมจ่ายสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าปริมาณและราคาเมื่อเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งการแข่งขันในตลาดนี้มีความเข้มข้น ทั้งจากประเทศที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า หรือประเทศที่สร้างแบรนด์มาอย่างยาวนาน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพวัตถุดิบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างความแตกต่าง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับสินค้า การให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของสินค้าที่มีต่อสุขภาพ และการสร้างเรื่องราว (Story Telling) เพื่อดึงความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงในตลาดเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ โดยในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นอันดับที่ 9 ของโลก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์