รศ.ดร.ทศพล ทรรศนพรรณ หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในจังหวัดเมียวดี หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการ 3 ตัดไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2568 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเกือบจะครบ 4 เดือน โดยมองว่า ในช่วงแรกได้ผลจริง แต่ขณะนี้ พบมีการกลับมาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อีก แสดงว่า ยังย้ายฐานที่ตั้งหมุนเวียนอยู่ในภูมิภาคแถบนี้

หัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยีฯ มช. ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ที่สานต่อนำพ.ร.ก. มาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มาเป็นกลไกสำคัญคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่อยากให้พิจารณาอีกว่า ความพร้อมในการปฎิบัติงานของตำรวจมีความพร้อมในการรับมือมากน้อยขนาดไหน เพราะแต่ละวันยังมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก
“ทั้งตำรวจรุ่นใหม่ และตำรวจรุ่นเก่าทั้งประเทศ ควรจะได้รับการยกระดับองค์ความรู้ในการฝึกอบรมการรู้เท่ากันของภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, การเขียนสำนวนเชิงนิติศาสตร์, การสืบสวนสอบสวน ในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งบุคลากรที่จะมีความเชี่ยวชาญในการรับมือปัญหาเหล่านี้ยังมีไม่เพียงพอ แต่มีความจำเป็น ต้องสร้างบุคลากรให้กระจายตัวไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะในส่วนกลางเท่านั้น การติดตามทรัพย์สิน เกี่ยวกับเรื่องบังคับคดีและเรื่องฟอกเงิน ดีเอสไอมีบุคลากรทำงานเพียงพอหรือไม่ เทคโนโลยีสนับสนุนได้มากน้อยขนาดไหน และถ้าจะแก้ให้ได้จริง สำคัญที่สุด คือ สถาบันการเงิน และบริษัทโทรคมนาคมกับภาครัฐ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ข้อมูลของประชาชนต้องปลอดภัย ไม่ถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น โปร่งใส หากมีปัญหาสามารถตรวจสอบได้ และสุดท้าย การเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย ต้องสามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม”

ด้าน ณรงค์ ตนานุวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจดิจิทัลภาคเหนือ กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการ 3 ตัดกดดันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งตามแนวชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขณะนี้ยังพบว่า ประชาชนยังถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้เบอร์โทรศัพท์หลอกลวง และไม่ได้ลดลง ดูได้จากการเข้าแจ้งความกับทางสถานีตำรวจในแต่ละแห่ง จึงอยากเห็นสถาบันการเงินมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบเชิงรุก ไม่ใช่การทิ้งให้ผู้เสียหายรับภาระเพียงผ่ายเดียว
นอกจากนี้ยังเห็นว่า “ตำรวจไซเบอร์ ต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ มีความพร้อมทั้งกำลังคน ที่ได้รับการเพิ่มทักษะการใช้อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่รู้เท่าทัน เช่นเดียวกับบริษัทโทรคมนาคม ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างจริงจังในการควบคุมไม่ให้เกิดช่องว่างในการใช้โทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนได้อย่างง่ายๆ และมีมาตรการในการคุมเข้มการเปิดใช้งาน และตรวจสอบได้ ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาที่เก้ไขไม่ได้”
“จำนวนการแจ้งความในสถานีตำรวจแต่ละที่ ไม่ได้ลดลง แสดงว่าแก็งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้อยู่เฉพาะชายแดนแล้ว แต่มีการแอบแฝงปะปนอยู่ในเมือง ถือเป็นภัยต่อความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น ระบบดาต้าต้องเข้าถึงขบวนการเหล่านี้ ซึ่งกระบวนการของเทคโนโลยีดิจิทัล, สื่อ และเน็ตเวิร์ค ต้องประสานงานกันอย่างเข้มข้น เพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่การหลอกลวงประชาชน แต่ลามไปหลอกลวงธุรกิจร้านค้าด้วย”

กฤติญา ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการมนุษย์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การฉ้อโกงออนไลน์ในประเทศเมียนมา เป็นแหล่งอาชญกรรมทางออนไลน์และการค้ามนุษย์ระดับโลกที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์รูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีความซับซ้อน เครือข่ายอาชญากรมีขนาดใหญ่ แข็งแกร่งและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผลประโยชน์และเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

“สถานการณ์ยังไม่ยุติ นับวันจะยิ่งยากต่อการกวาดล้างปรามปราม และส่งผลกระทบต่อวิกฤติด้านสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง”
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า เกือบ 4 เดือนที่รัฐบาลใช้มาตรการ 3 ตัด แต่การปราบปรามไม่ได้ผล เป็นเพียงแค่การกดดันเท่านั้น ในข้อเท็จจริงพบว่า ฝั่งจังหวัดเมียวดี ยังมีการเคลื่อนไหวของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กลับมาปฎิบัติการกันเหมือนเดิม

“ยังมีการก่อสร้างอาคารสถานที่อย่างคึกคัก อีกทั้งการตัดไฟฟ้าได้ผลไม่มาก เพราะมีการนำเครื่องปั่นไฟมาใช้งาน ขณะที่การตัดสัญญานอินเทอร์เน็ต ก็หันไปใช้สัญญานดาวเทียมแทน และการตัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก็มีการนำเข้ามาจากจังหวัดชั้นในของเมียนมา ซึ่งราคาสูงกว่า ทำให้คนที่ได้รับผลกระทบ กลับไม่ใช้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่กลับเป็นประชาชนและภาคธุรกิจชายแดนมากกว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หอการค้าได้ระดมความคิดเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ และส่งหนังสือรวบรวมปัญหาจากภาคเอกชนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยขอให้มีการยกเลิกมาตรการ 3 ตัด , ผลักดันถนน AH1 ให้เป็นถนนปลอดภัย สามารถกลับมาสัญจรได้ตามปกติ , ขอให้มีการขนส่งสินค้าผ่านท่าข้ามได้ตามปกติ หากท่าข้ามไหนทำผิดกฎหมายให้สั่งปิด และการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ควรใช้ระบบไตรภาคี ซึ่งจนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงอยากให้ทางรัฐบาลจีนซึ่งเปิดปฎิบัติการตั้งแต่แรก ควรจะเข้าไปแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จ”

บรรพต กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเมืองหน้าด่านไทย-เมียนมา ที่มีมูลค่าการส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่ภายหลังจากที่มีการปราบปรามแก็งคอลเซ็นเตอร์ ปรากฏว่า ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา

“โดยเฉพาะการส่งออก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ที่มีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 7,000 ล้านบาท ล่าสุดยอดหายไปกว่าเดือนละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข จะถือเป็นการสูญเสียโอกาสทางการค้าชายแดนต่อเนื่องในระยะยาว”