ปัญหาหนึ่งของกองทุน USO กองทุนเพื่อบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม คือ การบริหารโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบไม่ได้ไม่ทันกับการแก้ไขปัญหาของประชาชน
โครงการที่เด่นที่สุดในเรื่องไม่มีประสิทธิภาพ คือ การจัดทำระบบเตือนภัย Cell Broadcast ที่บอร์ด กสทช.อนุมัติงบ 1,000 ล้านบาท ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นคนทำ
ย้อนไปถึงความต้องการ ระบบเตือนภัย คือเหตุกราดยิงที่นครราชสีมา ปี 2566 วันนั้นมีคนบอกว่าถ้ามีระบบอะไรที่เตือนภัยได้ ความสูญเสียจะไม่มากขนาดนั้น มีการพูดกันถึงหลายระบบ ทั้ง SMS และ Cell Broadcast ใครจะเป็นเจ้าภาพดี เหตุแบบนี้ ตำรวจ หรือ จังหวัด แล้วเวลาก็ผ่านไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนะจะลืมไปแล้ว ก็เกิดน้ำป่า โคลนถล่ม เชียงราย ปี 2567 ตอนนั้น Cell Broadcast มาแรงสุดน่าจะเป็นระบบที่เหมาะที่สุด
จนมีการพูดคุยกันว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ หวยออก ‘กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย’ (ปภ.) ที่ชนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วยความเห็นว่า คนที่ดูแลเรื่องภัยพิบัติ ต้องรับผิดชอบ แล้วก็เกิดการรับลูกอย่างเร็ว โดยบอร์ด กสทช. อนุมัติงบ 1,000 ล้านบาท ให้ทำระบบเตือนภัย
การอนุมัติเกิดขึ้นวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน บอร์ดกสทช.จะไปรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร วันรุ่งขึ้น (15 สิงหาคม) หนึ่งในผลงานที่ กสทช.เตรียมเอาไปรายงานสภาผู้แทนราษฎร คือ โครงการนี้ การอนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) , โครงการ USO ฯลฯ ยังไม่รู้ว่าโครงการนี้จะออกมาแบบไหน เป็นผลงานแล้วแค่ให้เงิน
สิ่งที่ กสทช.ให้งบ ปภ.ไปทำ คือ ทำระบบ Cell Broadcast Entity (CBE) มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ช่วยทำระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง Cell Broadcast Entity (CBE) และ Cell Broadcast Center (CBC) รวมถึง รับทราบรูปแบบการเชื่อมต่อระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปภ.จะสร้างระบบเสร็จภายใน 9-12 เดือน
กรม ปภ. โดยปกติมีการของบ ทำระบบเตือนภัยทุกปี ข้อมูลของกรม เรื่องระบบ เตือนภัย คือ งบประมาณ 507 ล้านบาท
ไหนว่าได้ 1,000 ล้านบาท ทำไมเหลือ 507 ล้านบาท งบนี้ทำอะไรบ้าง เริ่มจากใช้บริการสื่อสารโทรคมนาคมสำหรับอุปกรณ์เตือนภัย 45.50 ล้านบาท/ปี, เช่าใช้บริการรับ-ส่งสัญญาณเตือนภัยสำรอง 26.44 ล้าน/ปี, โครงการบำรุงรักษาระบบส่งข้อมูลเพื่อการเตือนภัย 4.96 ล้าน/ปี ที่เหลือใช้งบซ่อมบำรุงทั่วไป แต่เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ
โครงการเดินหน้าอย่างเรื่อย ๆ ใครจะไปคิดว่า วันที่ 28 มีนาคม 2568 จะมีแผ่นดินไหว เพราะก่อนนั้น 1 วันคือวันที่ 27 มีนาคม 2568 ปภ. เพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง ‘บริษัท เรย์แด้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME เป็นคู่สัญญาจัดทำโครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ วงเงิน 430,000,000 บาท เมื่อระบบยังไม่ได้ทำ พอเกิดแผ่นดินไหวจึงมีแต่การแจ้งเตือนด้วย SMS แบบตามมีตามเกิด ได้บ้างไม่ได้บ้างแล้วแต่โชคที่คนด่ากันทั้งเมือง
ด้วยความที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีแผ่นดินไหว ปภ.ยังไม่ทันทำอะไรเป็นรูปเป็นร่าง จนที่สุด เอกชนโดยโอเปอเรเตอร์ต้องทำระบบออกมาเมื่อนายกรัฐมนตรีจี้เรื่องระบบเตือนภัยที่สุดท้ายมีข่าวทดสอบระบบออกมา ระบบนี้ ไม่ใช่ที่ปภ.จ้างเอกชนทำ แต่เป็นระบบชั่วคราวที่โอเปอเรเตอร์เตรียมไว้
นี่คือตัวอย่างการให้เงิน ที่แค่ให้ โชว์ไว้เป็นผลงาน แต่ง่อยใช้งานจริงไม่ทัน ด้วยระบบบริหารแบบราชการ ยังไม่นับขั้นตอนและวิธีการเตือนภัย ที่มีความเป็นขั้นตอน และจัดลำดับความรุนแรงไว้แบบไม่คิดถึงความรู้สึกของคน เห็นได้จากแผ่นดินไหวที่กระบี่ ที่แผ่นดินไหวแค่ 3.5 ไม่เกิดความเสียหาย ไม่เข้าเกณฑ์แจ้งเตือนภัย แต่คนไทยและนักท่องเที่ยว ตื่นตกใจไปเรียบร้อย
เวลาเราให้เงินใครไปใช้ อาจไม่ต้องรอให้เขามารายงานว่า ใช้ทำอะไรไปแล้ว แต่สามารถ สอบถามความคืบหน้าได้ ติดตามตรวจใจสอบได้ แต่ไม่ได้ทำ รอให้มารายงาน ใครจะไปคิดว่ามีเหตุแผ่นดินไหว ภัยพิบัติ เกิดขึ้นทุกปี แรงเพิ่มขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่รอได้ นี่คือ การใช้เงิน USO ที่ขนาดการติดตามตรวจสอบ ของ กสทช. อีกครั้งหนึ่ง