เที่ยวไทยเสื่อมมนต์ขลัง? นทท.จีนลดลง แห่ไปเวียดนาม

23 เม.ย. 2568 - 05:55

  • คนรุ่นใหม่จีนไม่มาเที่ยวไทย เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยในไทย

  • ไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวอื่นๆ

  • เวียดนามกลายเป็น Destination ใหม่ของกลุ่มนักท่องเที่ยว

economic-business-thai-chinese-tourists-vietnam-SPACEBAR-Hero.jpg

สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ปี 2568 ต้องเจอกับความไม่แน่นอนสูงทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมือง การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศและภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย รวมถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป อัตราการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวในปีนี้อาจชะลอตัว

หมดยุคทองของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย?

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ประเทศไทยน่าจะหมดยุคมีนักท่องเที่ยวชาวจีน 10 ล้านคนไปแล้ว หากปล่อยไปแบบนี้ เป้าหมายที่จะเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้าไทยให้ได้ 8 ล้านคน คงยาก หากจะให้ได้เท่ากับปีผ่านมาที่ 6.7 ล้านคนอาจจะพอเป็นไปได้ หมดยุคที่จีนจะมาเที่ยวไทยจำนวนมากๆ นักท่องเที่ยวชาวจีนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไม่มาเที่ยวไทย เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในไทย จีนเองยังไม่เห็นความจริงจังของไทยในการแก้ปัญหา ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร เช่น ไม่มีการลงทุน หรือสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติม อนาคตแย่แน่

โอกาสของการฟื้นตัว ดึงจีนเที่ยวไทย?

สำนักวิจัยเศรษฐกิจที่อยู่ในเครือธนาคารกรุงศรี เปิดเผยว่าการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยมีสัญญาณอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน เหลือ 371,452 คน และหดตัวสูง 44.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2567 และส่งผลทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 มีนักท่องเที่ยวจีนสะสมเพียง 1.18 ล้านคน หดตัว 12.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2567

จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงแรงและยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอยู่มาก ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทาง รวมถึงการแข่งขันที่สูงขึ้นจากจุดหมายปลายทางในประเทศอื่น ๆ ที่มีมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกัน

ไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลังในการดึงดูด?

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 แต่เมื่อมองในมุมที่กว้างขึ้น พบว่า ไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในการท่องเที่ยวอื่นๆ สัญญาณดังกล่าวอาจสะท้อนถึงไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลังในการดึงดูด มองข้อจำกัดเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้ยังเป็นทางเลือกลำดับแรก ๆ และคุ้มค่าที่จะเที่ยวซ้ำ หรือเป็นตัวเลือกในการพำนักระยะยาว เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

ทั้งนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยสร้างเม็ดเงินให้กับไทยสูงสุดกว่า 1.9 ล้านล้านบาท บนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 39.92 ล้านคน

โดยนอกจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาหมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยแล้ว การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังนำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศที่เสริมสร้างให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมีความเข็มแข็งมากขึ้น อีกทั้งในมิติของธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ เม็ดเงินที่ผู้ประกอบไทยได้รับในรูปแบบของกำไรก็มีส่วนต่างมากกว่ากลุ่มภาคการผลิต

อย่างไรก็ตามจากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักและกลับมาฟื้นตัวหลังวิกฤตคลี่คลาย โดยในปี 2566 เริ่มเห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวที่ 71% และในปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติยังรักษาการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องที่89% หรือราว 35.5 ล้านคน

ไทยค่อนข้างฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ เมื่อพิจารณาถึงประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ยังวิเคราะห์อีกว่า แม้สถานการณ์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยดูเหมือนจะฟื้นตัวแต่อาจแฝงไปด้วยความน่ากังวลที่นอกจากในทางเปรียบเทียบแล้วการฟื้นตัวของไทยไม่เพียงช้าแต่อาจยังดูมีทิศทางล้าหลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยที่ยังไม่กลับมา ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นที่กลับมาฟื้นตัวทะลุระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิมหรือสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยที่มีความเปราะบางจากการที่มีการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 28% อาจเริ่มเสื่อมความนิยม

หากพิจารณาลึกลงไปพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศที่มีชายแดนติดกันรวมแล้วกว่า 7.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 68% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด รวมถึงในปี 2567 นักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียนก็ยังมีสัดส่วนมากถึง 30% ของนักท่องเที่ยวรวม ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คาดว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ไม่สูงนักจากค่าครองชีพในต้นทางที่ไม่สูงกว่าไทยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ไม่มากพอ รวมถึงค่าเสียโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวต่ำกว่าส่งผลต่อระยะพักแรมที่สั้นกว่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น

ดังนั้น การตั้งเป้าในเรื่องเชิงปริมาณของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าด้านปริมาณ โดยสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืนคือควรเน้นเรื่องคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าเชิงปริมาณ

นอกจากนี้โครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยยังกระจุกตัวอยู่ในแค่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เกือบ 90% เป็นประเด็นที่กระทบต่อศักยภาพการเข้าประเทศไทยที่ถูกจำกัดจากการที่นักท่องเที่ยวยังเดินทางผ่านกรุงเทพฯ เป็นหลักเสมอ

เวียดนาม Destination ใหม่ของกลุ่มนักท่องเที่ยว?

เวียดนามกำลังกลายเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย ธรรมชาติ วัฒนธรรมพื้นบ้าน และการท่องเที่ยวแบบช้า ๆ (Slow Travel) ที่เน้นการสัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างลึกซึ้งเวียดนามมีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ค่าครองชีพต่ำ และการเดินทางสะดวก ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความคุ้มค่าและประสบการณ์ใหม่ ๆ

นอกจากนี้ เวียดนามยังเติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวในอาเซียน โดยปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าเวียดนามถึง 17.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2566 และแซงหน้าสิงคโปร์ในจำนวนผู้มาเยือน นักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางไปไทยจำนวนมากเริ่มหันมาเที่ยวเวียดนามแทน เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยในไทยและมองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีความน่าสนใจและปลอดภัยมากขึ้น

กลยุทธ์เวียดนาม ดูดนักท่องเที่ยว

หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์รายงาน ว่า ภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด โดยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของเวียดนามระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 9.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2562โดยมียอดผู้มาเยือนจากต่างชาติอยู่ที่ 18 ล้านคน และสร้างรายได้อยู่ที่ 720 ล้านล้านดองเวียดนาม (3.02 หมื่นล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ด้านการท่องเที่ยวเวียดนามได้ระบุในแผนกลยุทธ์การพัฒนาฉบับล่าสุดว่า เวียดนามตั้งเป้าดึงดูดนักเดินทางจากต่างชาติที่ 35 ล้านคนภายในปี 2573 ด้วยการเติบโตแบบต่อเนื่องที่ 13 -15% ต่อปี โดยอาศัยมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ แบบเป็นวงกว้าง

ด้านสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในอุดมคติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามจึงเตรียมพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพและยั่งยืน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงและพำนักในระยะยาว พร้อมออกแคมเปญประชาสัมพันธ์ออนไลน์มากขึ้น หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของเวียดนาม

ล่าสุดเวปไซด์ vietnam.vn เปิดเผยรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียว ประเทศเวียดนามได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 23.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลลัพธ์นี้เป็นผลมาจากนโยบายวีซ่าที่เอื้ออำนวย กลยุทธ์การส่งเสริมการขายที่มีประสิทธิภาพ และการยอมรับจากองค์กรการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณาจากขนาดตลาดแล้ว จีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดโดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 956,000 คน คิดเป็น 27.7% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเกาหลีใต้อยู่อันดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยว 885,000 คน ตลาดส่งออกทั้งสองแห่งนี้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนสนับสนุนร้อยละ 46 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดสู่เวียดนามในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568

รองลงมาคือไต้หวัน (จีน) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 โดยมีจำนวนผู้มาเยือน 218,000 คน ส่วนสหรัฐอเมริกาครองตำแหน่งที่ 4 โดยมีจำนวนผู้มาเยือน180,000 คน นอกจากนี้ ญี่ปุ่น กัมพูชา ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินเดีย ยังเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเวียดนามเป็นจำนวนมากอีกด้วย

ที่น่าสังเกตคือ รัสเซียกลับมาติดอันดับ 10 ตลาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเวียดนามมากที่สุดด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว 79,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีนี้

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยกระตุ้นการเติบโตแล้ว จีนถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตแข็งแกร่งที่สุด โดยคิดเป็น 77.8% ขณะที่ตลาดท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เกาหลีใต้ ไต้หวัน (จีน) สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังคงเติบโตได้อย่างมั่นคง

ตลาดใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เติบโตได้ดี โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้น 99.8% ไทยที่เพิ่มขึ้น 93.2% กัมพูชาที่เพิ่มขึ้น 79.6%เฉพาะตลาดสิงคโปร์ลดลง 8.2%

ตลาดในยุโรปยังคงมีการเติบโตที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะประเทศที่มีนโยบายยกเว้นวีซ่าฝ่ายเดียว เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์

นอกจากนี้ ตลาดโปแลนด์และสวิสยังบันทึกการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ค่อนข้างดี โดยเพิ่มขึ้น 54.2% และ 14.2% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2024 ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมติ 11/NQ-CP เกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่าระยะสั้นสำหรับพลเมืองโปแลนด์ เช็ก และสวิส ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 ธันวาคม 2025 ภายใต้โครงการกระตุ้นการพัฒนาการท่องเที่ยวปี 2025 คาดว่านโยบายนี้จะสร้างกระแสและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งสามประเทศมายังเวียดนามมากขึ้นในปี 2568

การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 4 ล้านคนในช่วงสองเดือนแรกของปี 2568 แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการพัฒนาเชิงบวกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเวียดนามหลังจากช่วงฟื้นตัวในปี 2567 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม เชื่อว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงพีคของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การนำโปรแกรมกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ดีมาปฏิบัติ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 22-23 ล้านคนในปีนี้

ท่องเที่ยวไทย ตั้งรับ-ปรับกลยุทธ์?

นัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (บอร์ด ททท.) เปิดเผยว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้น ตั้งแต่ความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการเที่ยวไทย ซ้ำเติมด้วยแผ่นดินไหว รวมถึงปัจจัยลบจากต่างประเทศที่มีการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐและจีน ซึ่งไทยถูกกระทบในการขึ้นภาษีสินค้าด้วยนั้น 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา มีความน่ากังวลมาก โดยเฉพาะตลาดจีนที่เคยมาไทยวันละแต่ 100,000 คน มาตอนนี้ลดลงแบบรุนแรง บางวันเหลือเพียง 7,000 คนเท่านั้น จะเห็นได้จากรายงานตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.55 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2567 คิดเป็นสัดส่วนการฟื้นตัว 88%เมื่อเทียบกับปี 2562 สร้างรายได้ 471,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%จากปี 2567 คิดเป็นสัดส่วนการฟื้นตัว 91%เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยตลาดหลัก ประกอบด้วย จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ เวียดนาม ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เดินทางเข้าไทยลดลง17% จากประเด็นอ่อนไหวความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ส่วนแนวโน้มตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2568 คาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.37 ล้านคนเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน สร้างรายได้ 390,420 ล้านบาท รวมครึ่งแรกจะมีรายได้จากต่างชาติ 862,295 ล้านบาท ยังห่างไกลเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับกลยุทธ์ดึงท่องเที่ยวไทยให้โตขึ้น ได้สั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับแผนการตลาดในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 โดยททท.จะต้องปรับใหม่ผ่านการเน้นตลาดลักชัวรี่มากขึ้น เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ที่พฤติกรรมการท่องเที่ยวจะมาเที่ยวแบบครอบครัว หรือการเข้ามาเที่ยวเพื่อรักษาพยาบาล ในส่วนนี้จะต้องรุกขายแพคเกจท่องเที่ยวควบคู่ด้วย โดย ททท.จะไม่ไปทุ่มจัดอีเวนท์ในตลาดที่ปลุกไม่ขึ้นในตอนนี้ โดยตลาดคุณภาพที่เล็งไว้ เช่น ซาอุดิอาระเบีย คูเวต หรือยุโรปที่ตอนนี้ไม่เดินทางไปสหรัฐ ก็ต้องรีบไปชักชวนมาไทยแทน โดยเฉพาะสเปน เยอรมัน สวีเดน อังกฤษ และรวมไปถึงแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โดยแผนดังกล่า จะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์