ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด ได้โพสต์ความเห็นกรณี สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดแพง ในเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/share/p/19pz5XUfiN/ มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้
ผมได้เห็นข่าวที่วรภพ วิริยะโรจน์ และศุภโชติ ไชยสัจ สส.พรรคประชาชน ออกมาแถลงข่าวขอให้พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรมว.พลังงาน เบรกการลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 3,600 mw ไม่งั้นคนไทยจะต้องจ่ายค่าไฟแพงไปอีก 25 ปี
ซึ่งด้วยความเคารพ ผมต้องขอเห็นต่าง และคิดว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่อาจคลาดต่อความเป็นจริงครับซึ่งก่อนที่ผมชี้แจง 2 เรื่อง
- ผมขอเน้นย้ำก่อนว่าผมยืนในหลักการเดิมเสมอ คือ การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนมีค่าไฟที่ถูกลง สมัยที่ผมทำงานการเมืองเคยต่อสู้เรื่องนี้อย่างไร ทุกวันนี้แม้ออกมาแล้ว ก็ยังต่อสู้เรื่องนี้อยู่เช่นเดิมครับ
- ผมต้องขอออกตัวว่าผม หรือบริษัทผม ไม่ได้เข้าร่วมประมูลขายไฟให้ภาครัฐ และไม่เคยร่วมประมูลการขายไฟให้ภาครัฐ และก็ไม่ได้เป็นผู้ติดตั้งให้ผู้ชนะประมูลด้วย เพราะฉะนั้นการให้ข้อมูลของผม ไม่ได้มีเรื่องผลประโยชน์ใด ๆ ของผมแน่นอนครับ มีแต่เพียงความหวังดี
ซึ่งในประเด็นไหนที่ผมเห็นว่าความเข้าใจของผู้แถลงอาจผิดพลาดจากความเป็นจริง ผมในฐานะคนประกอบอาชีพด้านพลังงานสะอาดอย่างสุจริต ก็อยากจะนำเสนอความจริงอีกด้านให้สังคมได้รับรู้ โดยมีจุดหมายเดียวกันเช่นเดียวกับ สส.พรรคประชาชน คือการหาทางออกให้ค่าไฟของประเทศไทยเราถูกลง
ผมขอเริ่มจากการฉายภาพให้ทุกท่านได้เห็นโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน และต้นทุนขายไฟของโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทดังนี้
- โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.40 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ (แม่เมาะ) - ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 1.32 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าถ่านหิน (นำเข้า) - ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 2.01 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าก๊าซ - ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 3.24-4.06 บาท/หน่วย (รวมค่า AP)
- โรงไฟฟ้าลม (แบบมี adder) - ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 8 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบมี adder) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 10-12 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าโซลาร์ & ลม (หลัง adder หมด) – ราคาขายหน้าโรงไฟฟ้า 4.5บาท/หน่วย รวม FT
- โรงไฟฟ้าโซลาร์ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ Non-Firm) – 2.16 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี่ (สัญญาใหม่ รับซื้อราคาคงที่ แบบ Firm) – 2.8 บาท/หน่วย
- โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่นๆ (ชีวมวล ขยะ) – 4-6 บาท/หน่วย
โดยราคาด้านบนเป็นราคาขายไฟหน้าโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมค่าสายส่ง 0.24 บาท/หน่วย และค่าสายจำหน่ายและการให้บริการของการไฟฟ้าส่วนจำหน่าย ซึ่งก็คือการไฟฟ้าภูมิภาค (PEA) และการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ที่ 0.51 บาท/หน่วย
กลับมาที่ประเด็นร้อน - การที่กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด ประเภทโรงไฟฟ้าโซลาร์ (แบบราคารับซื้อคงที่) 2.16 บาท/หน่วย และ โรงไฟฟ้าโซลาร์+แบตเตอรี ที่ 2.8 บาท/หน่วย เป็นการทำให้ค่าไฟประเทศไทยแพงไปอีก 25 ปีหรือไม่?
หากท่านได้ดูโครงสร้างที่ผมเขียนเมื่อต้น จะเห็นเลยว่าไม่จริงครับ เพราะวันนี้ต้นทุนเฉลี่ยค่าผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้นอยู่ที่เกือบ 3.3 บาท/หน่วย โดยคละกันทั้งไฟฟ้าถูกและไฟฟ้าแพง
การที่เรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ 2 บาทกว่า/หน่วย จะเป็นการทำให้ต้นทุนไฟฟ้าค่าเฉลี่ยของประเทศถูกลงด้วยซ้ำ ไม่ใช่แพงขึ้นอย่างที่หลายท่านเข้าใจผิด
ประเด็นที่ 2.) (ที่ไม่มีใครเคยกล่าวถึงเลย) คือในปี 2568-2577 จะมีโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมัน ซึ่งมีต้นทุนแพงกว่าพลังงานสะอาดอย่างมาก กำลังจะถูกปลดระวางออกจากระบบอีก 14,573 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าเอกชน10,396 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากฟผ. 4,177 เมกะวัตต์
ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดในครั้งนี้ จึงเป็นการเอาโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ใหม่กว่าและถูกกว่า เข้ามาทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซและน้ำมันที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกำลังจะหมดอายุ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟถูกลงอีกเกือบ 1 บาท/หน่วย
ประเด็นที่ 3.) ราคารับซื้อไฟที่ 2.16 บาท/หน่วย มันเป็นราคาที่แพงหรือไม่ และราคาแผงโซลาร์ มันมีแต่ลงจริงหรือไม่?
ผมต้องนำเรียนทั้งคุณศุภโชติ และคุณพีระพันธุ์ ที่เบรกการรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ ว่ามันไม่แพงเลยครับ
ผมในฐานะที่ทำธุรกิจรับติดตั้งโซลาร์เซลส์ และขายไฟ(ให้เอกชน) บอกได้เลยว่าราคานี้ไม่ได้เป็นราคาที่แพงเลย เพราะผู้ชนะประมูลต้องลงทุนทั้งที่ดิน ซึ่งโรงไฟฟ้าโซลาร์ 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้ที่ดินมากถึง 6 ไร่ และไหนจะเรื่องการดูแลระบบ การล้างแผงโซลาร์ การกำจัดหนู แมลงไม่ให้ไปกัดสายไฟ และการเดินระบบสายส่ง+ปักเสาไฟฟ้าไปจุดเชื่อมต่อของการไฟฟ้า ล้วนแต่มีต้นทุนที่สูง นอกจากนี้แผงโซลาร์ยังมีอัตราการเสื่อมของแผงอยู่ที่ 0.5% ต่อปีอีกด้วย เพราะฉะนั้น factor เหล่านี้ มันต้องถูกนำไปคำนวณด้วยครับ