แนวโน้มธุรกิจถ่านหินไทย ส่งขาย ตปท.รุ่ง สวนทางตลาดในประเทศ

6 มี.ค. 2568 - 05:14

  • ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินของผู้ประกอบการไทย ในตลาดต่างประเทศคาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3%

  • ปริมาณถ่านหินที่จำหน่ายในไทยคาดว่าจะลดลง 1.2%

  • รายได้รวมจากการขายถ่านหินของผู้ประกอบการไทย คาดว่าจะลดลง 4.5%

economic-business-thai-coal-foreign-domestic-market-SPACEBAR-Hero.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2568 ปริมาณการจำหน่ายถ่านหินของผู้ประกอบการไทย ในตลาดต่างประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ราว 38.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.3% จากปีก่อนหน้า ตามอุปสงค์ถ่านหินโลก ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยที่ราว 0.4% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอินเดียและอาเซียน

ขณะที่ปริมาณถ่านหินที่จำหน่ายในไทยคาดว่าจะลดลง 1.2% ในปี 2568 มาอยู่ที่ 5.04 ล้านตัน โดยความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมจะลดลงราว 5% จากภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า อุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ราว 0.4% ตามความต้องการใช้ไฟที่เติบโต

รายได้รวมจากการขายถ่านหินของผู้ประกอบการไทย คาดว่าจะลดลง 4.5% ในปี 2568 เนื่องจากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยรายได้จากการขายในตลาดต่างประเทศ และในไทยคาดว่าจะลดลง 4.3% และ 5.7% ตามลำดับ

ตลาดถ่านหินต่างประเทศ

ราว 88% ของธุรกิจถ่านหินไทยเป็นการจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยจะขายถ่านหินจากเหมืองในประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก และประเภทถ่านหินจัดจำหน่ายส่วนมากเป็นถ่านหินที่ให้พลังงานความร้อนไม่เกิน 6,100 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม

ปริมาณถ่านหินที่จำหน่ายในตลาดต่างประเทศคาดว่าจะเติบโตเล็กน้อย

ในปี 2568 ความต้องการถ่านหินในจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 4.94 พันล้านตัน ขณะที่อุปสงค์จากอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียนมีทิศทางเติบโต อย่างไรก็ตาม ความต้องการใน EU ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการในสหรัฐฯ ที่ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน แม้ว่าในปี 2568 จะมีการกลับมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น จากนโยบายด้านพลังงานของ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ถ่านหินอาจไม่ได้รับแรงหนุนมากนักเนื่องจากมีสัดส่วนการใช้งานเพียงแค่ 1% ของภาคการผลิตไฟฟ้าทำให้การสนับสนุนคาดว่าจะมุ่งเน้นไปที่ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

ในปี 2568 การนำเข้าถ่านหินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอินเดียแต่ลดลงในจีน

การนำเข้าถ่านหินทางทะเลจากจีน มีแนวโน้มลดลงจาก 358 ล้านตันในปี 2567มาอยู่ที่ประมาณ 340 ล้านตัน ในปี 2568 โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อุปสงค์ที่ลดลงในอุตสาหกรรมเหล็กและภาคการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงการผลิตถ่านหินในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ความต้องการนำเข้าที่ลดลงของจีนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการรายเล็กในอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการไทยด้วย

ในขณะเดียวกัน การนำเข้าถ่านหินของประเทศอินเดีย อาจได้รับแรงกดดันเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2568 จากความต้องการที่ลดลงในภาคอุตสาหกรรมเหล็ก เนื่องจากปริมาณอุปทานเหล็กส่วนเกินจากจีนถูกเทขายมายังอินเดีย อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในปี 2568 ความต้องการนำเข้าถ่านหินของอินเดียคาดว่าจะยังคงเติบโต แม้การผลิตภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ถ่านหินที่ผลิตได้นั้นมักใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมักใช้ถ่านหินนำเข้าโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการถ่านหินคุณภาพสูง

ตลาดถ่านหินในประเทศไทย

ในปี 2568 ปริมาณถ่านหินที่จำหน่ายในไทยคาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้า ปริมาณถ่านหินที่จำหน่ายในไทยคาดว่าจะลดลง 1.2% มาอยู่ที่ 5.04 ล้านตัน จากความต้องการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง แม้ในภาคผลิตไฟฟ้าจะเติบโตเล็กน้อย

อุปสงค์ถ่านหินจากภาคอุตสาหกรรมในไทยคาดว่าจะลดลงราว 5% จากปีก่อนหน้า ตามกิจกรรมการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยกิจกรรมการผลิตที่อ่อนแอ เป็นผลมาจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเข้ามาของสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก ส่งผลให้ อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตมากถึง 60% ของอุปสงค์ถ่านหินโดยรวมในภาคอุตสาหกรรม ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว นอกจากนี้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) ก็มีส่วนผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกลดปริมาณการใช้ถ่านหินลงด้วยเช่นกัน

สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้า อุปสงค์ถ่านหินมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ราว 0.4% จากปีก่อนหน้า ตามความต้องการใช้ไฟที่เติบโต และเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้า โดยในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟคาดว่าจะโตราว 1.4% ทำให้ความต้องการถ่านหินเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 2.45 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าหลักราว 36%อย่างไรก็ตาม ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังตลอดปี 2568 อาจมีผลจำกัดการขยายตัวของอุปสงค์ถ่านหินให้อยู่ในระดับต่ำ

รายได้จากการขายถ่านหินมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า

รายได้รวมจากการขายถ่านหินของผู้ประกอบการไทย คาดว่าจะลดลง 4.5% ในปี 2568 จากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยที่ปรับลดลง และความต้องการถ่านหินภายในประเทศที่หดตัว

ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของผู้ประกอบการไทยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 93.9 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน ในปี 2568 ลดลงราว 5% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ถ่านหินโลก ส่งผลให้ รายได้จากการขายในตลาดต่างประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 122,648 ล้านบาท ขณะที่ รายได้จากการขายในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 16,044 ล้านบาท ลดลง 4.3% และ 5.7% ตามลำดับ 

ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมถ่านหินไทยในระยะกลางถึงยาว

ตลาดในประเทศ

  • ความต้องการใช้ถ่านหินในไทยมีแนวโน้มลดลงจากร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวของไทย (PDP 2024) ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทน โดยมีแผนการลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเหลือเพียง 7% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าในปี 2580 จากที่อยู่ราว 14% ในปี 2567 ในขณะเดียวกัน สัดส่วนพลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 51% จากปัจจุบันที่ 22% 
  • ภาคอุตสาหกรรมไทยมีแนวโน้มใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงพลังงานลดลงเนื่องจากพ.ร.บ. Climate Change และกฎระเบียบการค้าโลกด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการส่งออกไปยัง EU ซึ่งมีการใช้มาตรการ CBAM ที่มีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในการผลิต (Low carbon cement) 

ตลาดต่างประเทศ

  • ความต้องการถ่านหินในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวลดลงจากกระแสรักษ์โลกโดยเฉพาะคู่ค้าหลักอย่างจีน ที่หันไปพึ่งพาพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายในปี 2603 จีนตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดโดยเฉพาะพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ให้มีสัดส่วนเป็น 80% ของการผลิตพลังงานทั้งหมด ในขณะที่ลดจำนวนการใช้ถ่านหินเหลือเพียง 5% ทั้งนี้ หากมีเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกสะอาดที่มีต้นทุนใกล้เคียงและมีคุณสมบัติในการให้พลังงานเทียบเท่ากับถ่านหิน อาจส่งผลให้ความต้องการใช้ถ่านหินลดหายไปในระยะยาว 
  • เทคโนโลยีกักเก็บก๊าซเรือนกระจกหรือที่เรียกว่าถ่านหินสะอาด ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนยังคงมีต้นทุนสูง โดยจะเพิ่มต้นทุนขึ้นราว 70% จากการผลิตพลังงานโดยถ่านหินแบบเดิม และสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 90% ทำให้ผู้ประกอบการที่ตั้งเป้าหมาย Net zero อาจเลือกใช้พลังงานทางเลือกอื่น
  • อินเดียมีนโยบายหันมาพึ่งพาถ่านหินที่ผลิตในประเทศตนเองมากขึ้น โดยมีการตั้งเป้าว่า ภายในปี 2573 จะเพิ่มกำลังการผลิตถ่านหินจากภายในประเทศเป็น 1,522 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่า 70% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลทำให้การนำเข้าถ่านหินของอินเดียจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์