สถานการณ์วัวเนื้อภาคอีสานราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ หรือจะเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ เกษตรกรหลายราย ต้องตัดใจขายวัวทิ้งทั้งที่ไม่ได้กำไร เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว หากปล่อยไว้จะยิ่งทำให้ขาดทุนหนักกว่าเดิม มิหนำซ้ำยังเป็นหนี้สิน ธ.ก.ส. ที่กู้มาลงทุน
ปองเดช ยอดป้องเทศ หนึ่งเกษตรกรเลี้ยงวัวบ้านโนนข่า จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เริ่มเลี้ยงวัวตั้งแต่ปี 2560 ด้วยความหวังว่า จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จัดตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนโคเนื้อบ้านโนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่น เริ่มจากการเลี้ยงโคแม่พันธุ์ประมาณ 70 ตัว หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งวากิว ชาร์โรเลส์ บีฟมาสเตอร์ บราห์มัน
“กลุ่มของผม ผลิตโคตั้งแต่ต้นน้ำคือผลิตลูกวัวขาย กลางน้ำคือนำตัวผู้มาขุน ส่วนปลายน้ำส่งขายเป็นเนื้อ เริ่มแรก 2-3ปีได้กำไร โดยเฉพาะโคขุน ได้กำไรเฉลี่ยตัวละ 3,000-4,000 บาทต่อรอบ เลี้ยงขุนประมาณ 3 เดือน จะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 100 กิโลกรัม แต่ต้องให้หัวอาหารเป็นหลัก ตอนนั้นราคาโคขุนมีชีวิต คิดเป็นกิโลกรัมละ 90-100 บาท แต่ช่วงหลัง ราคาลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือกิโลกรัมละ 50-60 บาท จึงลดการเลี้ยงแบบกลางน้ำคือลดจำนวนโคขุนลง หันไปเน้นการเลี้ยงเฉพาะต้นน้ำแทน คือเลี้ยงแม่เพื่อผลิตลูกขาย เลี้ยงตามสภาพทุนทรัพย์ หาหญ้าหาฟางตามท้องท้องไร่ท้องนาแทน เพื่อลดต้นทุน ให้หัวอาหารบ้างเป็นครั้งคราว”



“เริ่มแรก 2-3 ปี ราคายังดี แต่ 4-5 ปีให้หลัง ราคาเริ่มลดลงต่อเนื่อง ทำให้แบกรับต้นทุนไหว จึงทยอยขายเรื่อยๆ และเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2567 จึงตัดใจขายเหมาให้พ่อค้าครั้งเดียวหมด ได้เงินไม่ถึงครึ่งที่ลงุทนไป เช่น วัวพ่อพันธุ์บีฟมาสเตอร์ซื้อมาราคาเกือบ 1 แสนบาท แต่ขายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาท ส่วนพันธุ์บราห์มัน ได้ราคาหมื่นต้นๆ ทั้งที่เมื่อก่อนราคา 3-4 หมื่นบาท แต่เห็นว่าหากปล่อยไว้จะขาดทุนเยอะกว่าเดิม เนื่องจากวัวกินอาหารทุกวัน มีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเหลวหรือหัวอาหาร เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อเดือน2-3หมื่นบาท แบกรับไม่ไหว บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา”
ปองเดช ยอมรับว่า ปัจจุบันยังคงมีหนี้สินคงค้างกว่า 2 ล้านบาท จากการกู้ ธ.ก.ส. ตอนนี้ต้องทยอยผ่อนกับธนาคาร ขอลดต้นลดดอกเบี้ย
“ตอนนั้นผมเข้าไปขอกู้สินเชื่อของ ธ.ก.ส. เริ่มแรกคือ 2.5 ล้าน เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ และมองว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างอาชีพและรายได้ จึงตัดสินใจกู้เงินก้อนโต โดยไม่คาดคิดว่าราคาจะตกต่ำหนักขนาดนี้ ทำให้ตอนนี้กลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่แทน”
ไม่ต่างจาก เชิดศักดิ์ พิศวาส เจ้าของสุวพัชร์ฟาร์ม ต.สระแก้ว อ.เปลือยน้อย จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ มีวัวเลี้ยงไว้กว่า 400 ตัว มีทั้งแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ และลูกผสมหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ชอตฮอร์น,เดราท์มาสเตอร์,ลูกผสมแบรงกัส, ลูกผสมแองกัส, ลูกผสมบีฟมาสเตอร์, และลูกผสมบรามัน ผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ปัจจุบันต้องลดจำนวนโคต้นน้ำลง เนื่องจากสถานการณ์ราคาวัวตกต่ำ แต่กระจายไปให้สมาชิกหรือเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายเลี้ยงต้นน้ำแทน และแบ่งผลผลิตกับเกษตรกร
ขณะเดียวกันทางฟาร์มก็เลี้ยงโคขุน ควบคู่กับการทำตลาดเนื้อ พร้อมกับลดจำนวนวัวลงมาให้เหมาะสมกับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น เลี้ยงจำนวนน้อยแต่ต้องมีคุณภาพเพื่อจำหน่ายและแข่งขันในตลาดเนื้อได้ ซึ่งมีทั้งตลาดเนื้อล่าง ตลาดกลาง และตลาดบน


เชิดศักดิ์ มองว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาวัวตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่เพียงพอ โดยเฉพาะตลาดเนื้ออุ่นหรือตลาดเนื้อเขียง ส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าหรือผู้ประกอบการจากภาคกลาง นำวัวจากภาคอีสานไปขุนต่อ เพื่อส่งเนื้อออกไปเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา และลาว แต่ล่าสุดตลาดปลายทางเริ่มมีปัญหาไม่ซื้อเนื้อจากไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลคุมเข้มเรื่องสารเร่งเนื้อแดงก่อนส่งออก และต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ซื้อเนื้อจากไทย ส่งผลให้ตลาดชะลอตัว
“อีกปัจจัยที่สำคัญคือ มีการนำเนื้อต่างประเทศเข้ามาในไทย มีทั้งนำเข้าโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย อีกทั้งยังราคาต่ำกว่า ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร เลือกที่จะซื้อเนื้อนำเข้าต่างประเทศมากกว่าเนื้อไทย ขณะที่ตลาดเนื้อล่างหรือตามเขียงทั่วไป คนไม่ได้บริโภคเนื้อทุกวัน และมีการแข่งขันเรื่องราคา ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต้องหาที่ระบาย เช่น นำวัวไปชำแหละขายเนื้อในชุมชน ทำให้ผู้ประกอบการเนื้อเขียงเกิดขึ้นมากมาย จนเกิดการแข่งขันและตัดราคากันเอง ประกอบกับที่ผ่านมาประเทศไทย มีการนำเข้าวัวมีชีวิตจากเมียนมา ทำให้ราคาวัวในไทยต่ำลงไปอีก เพราะราคาของเมียนมาถูกกว่า แล้วคนที่นำไปขุน ก็เลือกซื้อราคาถูก ทำให้วัวไทยแทบไม่มีคนซื้อ จนเกิดภาวะตลาดอิ่มตัว”
เชิดศักดิ์ อธิบายต่อว่า ตอนนี้วัวทุกเกรด ไม่ว่าจะเป็นประเภทสวยงาม หรือโคเนื้อ คนซื้อจะตีเป็นราคาเนื้อหมด ถ้าถามว่าราคาจะปรับขึ้นหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ประเมินยาก
“ตอนนี้เริ่มมีวัวไทยไหลออกนอกประเทศ เพราะพ่อค้าเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา เข้ามากว้านซื้อตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งวัวที่มีอยู่ในประเทศประมาณ 10 ล้านตัว ซึ่งจุดนี้รัฐบาลต้องส่งเสริม เช่น ห้ามนำเนื้อต่างประเทศมาแข่งเนื้อไทย ต้องสกัดทุกช่องทาง ทั้งวัวมีชีวิต และเนื้อวัวที่เข้ามาทั้งถูกและผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการนำเครื่องในจากอเมริกาเข้ามา จะทำลายทุกห่วงโซ่อุปทาน วัวไทยก็จะถูกกดราคาเข้าไปด้วย”

ปัจจุบันราคาวัวมีชีวิต คิดเป็นกิโลกรัมละ 50-60 บาท ขณะที่อาหารวัวไม่ปรับราคาลดลงเลย ค่าเฉลี่ยอาหารข้นที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงอยู่ ตกกิโลกรัมละ 10-12 บาท แม้ราคาโคจะตกต่ำ แต่ราคาเนื้อกลับไม่ลดลงตาม
เชิดศักดิ์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเนื้อด้วย ยังมองว่าด้วยว่า ตลาดเนื้อจะโตหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ อยู่ที่กำลังซื้อ ซึ่งตลาดในเมืองไทยถ้าหากไม่มีเนื้อต่างประเทศเข้ามาแข่งขันก็อาจจะเติบโต แต่หากถามว่าจะเติบโตแค่ไหนก็ต้องดูที่สภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก
ผลกระทบราคาโคตกต่ำ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวัวเนื้อ แม้แต่วัวสวยงามพันธุกรรมดี อย่างบราห์มันเลือดร้อย ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

อรัญญา อาษาราษฎร์ เจ้าของอรัญญาฟาร์ม อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เล่าว่า ฟาร์มวัวสวยงามได้รับผลกระทบไม่ต่างจากที่อื่น คือ ราคาตกต่ำ เนื่องจากวัวล้นตลาด ความต้องการซื้อน้อย หากเปรียบเทียบราคาเมื่อ 7 ปีก่อน วัวสวยงามจะซื้อขายกันอยู่ที่ราคาหลักแสนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับรูปร่างและสายพันธุ์

“บางคนยอมจ่าย ซื้อขายกัน 7-8 แสนก็มี ส่วนราคาขายปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 หมื่นบาท ในส่วนของอรัญญาฟาร์ม เริ่มทำแรกๆซื้อมาแค่ 2 ตัว ในราคาประมาณตัวละ 1.2 แสนบาท เลี้ยงในปีเดียวขายคืนทุนทั้งหมด จนปัจจุบันยังมีการขยายพันธุ์ ทำให้มีวัวนับ 10 ตัว และยังมีควายสวยงามอีกด้วย หากราคาวัวไม่ปรับตัวขึ้น ทางฟาร์มต้องปรับตัวตามสภาพ อาจจะต้องขายวัวประเภทสวยงามไปในราคาวัวเนื้อแทน คิดตามน้ำหนักเนื้อ จะได้ประมาณตัวละ 4-5 หมื่นบาท หากเกษตรกรกำลังมองหาโคสายพันธุ์ดีเลือดร้อย ราคาถูกก็นับเป็นโอกาสที่จะซื้อเก็บไว้เลี้ยงในระยะยาว”
เจ้าของอรัญญาฟาร์ม ยังแนะนำด้วยว่า ควรเลี้ยงแบบลดต้นทุนอิงธรรมชาติให้มากที่สุด และมองหาโอกาสปรับตัวตามยุคสมัย โดยเฉพาะสมัยนี้ สื่อโซเชียลมีอิทธิพลมาก สามารถนำมาใช้ในการสร้างตัวตน รีวิวสินค้า ทำคอนเทนต์ ก็สามารถสร้างรายได้ด้วยเช่นเดียวกัน
“โดยเฉพาะวัวประเภทสวยงาม เป็นวัวที่น่ารัก ตัวใหญ่ โครงสร้างดี เมื่อนำมาทำคอนเทนต์ทำให้คนติดตามจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้จากยอดวิว เดือนละ 8 หมื่นถึง 1 แสนบาท ก็เป็นรายได้อีกทางด้วย ขอให้กำลังใจคนเลี้ยงวัวทุกคน เชื่อว่าทุกวิกฤติ ยังมีโอกาสรออยู่เสมอ”
ขณะที่ สุรพงษ์ พินิจมนตรี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ตั้งข้อสังเกตว่า ราคาวัวมีชีวิตกับราคาเนื้อสดที่ขายตามท้องตลาดไม่สอดคล้องกัน โดยราคาเนื้อสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 250-300 บาท ขณะที่วัวมีชีวิต คิดน้ำตามหนักราคาอยู่ที่ 50-60 บาท จึงเชื่อว่า อาจเป็นการร่วมมือกันของคนบางกลุ่ม จนทำให้กลไกการตลาดผิดเพี้ยน เหมือนกับลักษณะการปั่นราคาวัวสายพันธุ์ฮินดูบราซิลในอดีต
“ผมชวนตั้งข้อสังเกตว่า การที่วัวมีราคาตกต่ำลง ใครจะได้ประโยชน์ คงหนีไม่พ้นผู้ประกอบการเขียงเนื้อ สำหรับแนวทางแก้ปัญหา รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ หากปล่อยไว้ไม่จัดการอะไร ระยะยาวราคาก็จะซึมแบบนี้อีกนาน”
